วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เบื่อเมือง เบื่อคน แล้วไปไหนในญี่ปุ่นกันดีน้าาาา "นั่งรถไฟคุณปู่ไปเดินเล่นในหุบเขา"



รีวิวอันนี้ เป็นรีวิวย้อนอดีตกันนิดนึง เพราะไปมาตั้งแต่เดือนเมษา แต่เพิ่งมาเขียนเล่าสู่กันฟัง (เอาจริงๆ ก็คือขี้เกียจเขียนอ่ะค่ะ T^T) ผ่านรีวิวเป็นจริงเป็นจังของเอมไปหลายอัน เลยมาปรับเปลี่ยนอารมณ์กันนิดนึง ^^
คิดว่า ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะกำลังวางแผนสำหรับไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงสงกรานต์ปีหน้า อ้างอิงเอาจากตัวเองที่วางแผนล่วงหน้าประมาณ 5-6 เดือน เลยคิดว่า รีวิวอันนี้ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังวางแผนท่องเที่ยวบ้างคับ 

การเดินเล่นครั้งนี้ เกิดจากร้านหนังสือมือ 2 ... ร้านเล็กๆ แถวสะพานควาย ที่เอมเข้าไปเดินเล่นสัก 3-4 ปีมาแล้ว และได้หนังสือ “เที่ยวด้วยรถไฟ 2 วัน 1 คืน จากโตเกียว” มา เป็นหนังสือที่ดูเป็นหนังสือแปลมามากๆ ตอนอ่าน ประทับใจภาพหนึ่ง เป็นสะพานแขวนอยู่ในหุบเขา บนพื้นน้ำสีฟ้าจัด แถมวิธีการเดินทางไปยังไปกับรถจักรไอน้ำซะด้วย อยากไปจัง แต่ก็นะไม่ค่อยอยากไปโตเกียวเท่าไร เอมเคยไปเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ในความทรงจำคือความวุ่นวาย 5555 เวลาวางทริปญี่ปุ่นที่ผ่านมาก็ขอไปเมืองไกลๆ โตเกียวดีกว่า

หนังสือเล่มนี้ ^^

แต่ด้วยเหตุที่เอมกับผองเพื่อนกิน จะไปวิ่ง eco slow marathon ที่ชิบะ ซึ่ง... อยู่ใกล้ๆ โตเกียว ตั้งแต่สมัครวิ่งที่งานลากูน่ามาราธอนเมื่อปี 2558 ที่ภูเก็ตไป เอมก็เริ่มหาข้อมูลว่าจะไปไหนดี หนังสือเล่มนี้ก็เลยถูกหยิบออกมาจากตู้หนังสือ ^^ และแล้ว แผนการเดินทางก็ถูกวางขึ้น...

“เอมจะไปที่นี่” ...

ปักหมุดและหักคอเพื่อนร่วมทริปในทันที ไม่ให้โอกาสอื่นใดในการตัดสินใจ และไม่ดูรายละเอียดอื่นๆ แม้แต่น้อยว่า... จะไปที่นี่จากโตเกียว มันไม่มีพาสอะไรจะช่วยลดราคาได้เลยนะ และด้วยประโยค “เอมจะไปที่นี่” ก็เลยเป็นการมอบหมายหน้าที่ในการจัดโปรแกรมเป็นของข้าพเจ้าไปโดยปริยาย อยากไปนักใช่ไหม... จัดมาๆ และด้วยเหตุนี้ เอมเลยแถมเที่ยวในชิสึโอกะไปอีก 1 วัน ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว..

ก่อนไป เราก็ทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับรถ SL หรือ Steam Locomotive หรือ หัวรถจักรไอน้ำ หากสนใจที่จะนั่งรถ SL ในเส้นทางนี้ ทางที่ดีที่สุดคือการจองตั๋วไว้ล่วงหน้า ผ่านทาง http://oigawa-railway.co.jp/library ในที่นี้จะเป็นการจองตั๋วไว้เฉยๆ โดยเมื่อไปที่สถานีเราก็บอกหมายเลข จ่ายเงิน และได้ตั๋วมาค่ะ

ในการเดินทางไปขึ้นรถไฟ เราต้องไปขึ้นที่สถานี Shin-Nakaya หากใครจะมาจากโตเกียวช่วงเช้าก็ทันนะคะ สามารถที่จะนั่งชินกังเซ็นแล้วมาต่อรถไฟไปได้ แต่เอมเลือกที่จะมานอนอยู่ที่ชิสึโอกะค่ะ จะได้ตื่นสายๆ เดินเล่นชมเมือง ก่อนที่จะไปนั่งรถไฟคุณปู่กันก็ได้

ดูจากแผนที่แล้ว แต่ละจุดจะอยู่ประมาณนี้

วันที่เอมไปพัก มีงานเทศกาลพอดีค่ะตอนช่วงเช้า จะมีขบวนแห่ไปตามเส้นทางต่างๆ ของเมือง ถ้าใครวางแผนไปชิสึโอกะช่วงเดือนเมษา อาจจะได้เจอขบวนแห่คะ อย่างที่เอมไปเจอคือวันที่ 16 เมษา รายละเอียดเอมไม่แน่ใจว่าจะหาจาก web ไหนนะคะ ตอนนั้นเอมได้ข้อมูลจากที่ไปพัก คือที่ momotaro ค่ะ


ดูขบวนเสร็จแล้ว ก็เดินชมเมืองก่อนจะไปขึ้นรถไฟ... ซากุระกำลังบานพอดีเลยค่ะ


เอมจองตั๋ว SL ไว้เป็นรอบ 11.52 จาก Shin-kanaya ไป Senzu เริ่มต้นจากที่ชิสึโอกะ นั่งรถไฟ JR Tokaido line ไป ใช้เวลาประมาณ 32 นาที ลงสถานี Kanaya ที่สถานี Kanaya จัดการเรื่องตั๋วที่จองไว้ โดยมีค่าตั๋วรถไฟไปกลับ 3,440 เยน บวกกับค่ารถ SL (ขาไป) อีก 800 เยน ซึ่งจะระบุที่นั่งเรียบร้อย เอมเลือก SL เฉพาะขาไป เพราะตั้งใจจะไปเดินเล่น ทำให้ไม่ทันกับรถไฟ SL เที่ยวขากลับค่ะ

ตั๋วสำหรับ SL
ตั๋วรถธรรมดา ซื้อแบบไปกลับ
ที่สถานี Kanaya นั่งรถไฟไป 1 สถานีค่ะ ลง Shin Kanaya เห็นรถไฟแล้วชอบมาก น่ารักๆ

ด้านในรถไฟ

การเดินทางแบบนี้ ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือข้าวกล่องรถไฟ ที่เป็นเฉพาะของเส้นทางนี้เท่านั้น ราคา 1080 เยน สามารถซื้อได้ทั้งที่สถานี Kanaya และ Shin-kanaya โดยรถไฟ SL จะออกเดินทางจากสถานี Shin-kanaya นั่งรถไฟจาก Kanaya ไป Shin kanaya เมื่อลงมาที่สถานี เราไปถึงก็พบกับมหาชนนักท่องเที่ยวกำลังรุมล้อมถ่ายรูปกับคุณปู่ SL อย่างสนุกสนาน



ก่อนหน้าจะมา ได้ลองค้นหาข้อมูลดูพบว่า หัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ในเส้นทางนี้มีขบวนที่นำไปจากประเทศไทย คือ C56 44 ซึ่งเป็นหัวรถจักรไอน้ำของญี่ปุ่นที่นำมาใช้ในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี 2522 หัวรถจักรไอน้ำก็ได้เดินทางกลับสู่ญี่ปุ่น โดย C56 44 ได้ถูกนำมาใช้ในเส้นทางเดินรถของทาง Oigawa railway และเมื่อปี 2550 ก็ได้มีการทำสีภายนอกใหม่ตามสีเดิมที่ใช้ในประเทศไทย เพื่อเป็นที่ระลึกความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี พยายามมองหา C56 44 เผื่อจะได้เข้าไปถ่ายรูปด้วย... ก็ไม่เจอ โดยคุณปู่ที่จะพาเราเดินทางในครั้งนี้จะเป็น C10 8 มีรูปซากุระหวานแหววอยู่ด้านหน้า ภายในขบวนรถคนไทยอย่างเรารู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี นึกย้อนไปถึงช่วงเรียนลาดกระบัง รถไฟประมาณนี้แหละ ที่เรานั่งประจำ

ยังพอมีเวลาเหลือ เดินออกไปด้านนอกสถานี จะมีอาคารที่ขายข้าวกล่องรถไฟอยู่ค่ะ ด้านในมีรถไฟโชว์อยู่ด้วย

กลับเข้ามาในสถานี ถ่ายรูปเล่นกันอีกนิดนึงงง ^^

ขึ้นมาบนรถไฟ หน้าตาด้านในเป็นแบบนี้... นี่แหละ ที่เราคุ้นเคย


รถไฟเคลื่อนออกจากสถานีตรงเวลา ระหว่างทางมีคนมายืนดู โบกมือทักทายกันเกือบตลอดเส้นทาง (แอบรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนางงาม 5555 เพ้อเจ้อจริงๆ) โดยเฉพาะช่วงที่แนวต้นซากุระที่กำลังออกดอก เอมเห็นตากล้องจำนวนมากที่รอถ่ายรูป SL และซากุระ บ้างก็เป็นครอบครัวมานั่งปิกนิกกันใกล้ๆ กับเส้นทางรถไฟ มีพนักงานรถไฟ เอาของเล่นมาขายด้วย เอมซื้ออันนี้มา น่ารักดี



ชมวิวกันเพลินๆ ค่ะ ตอนแรกเอมก็ลังเลว่า จะจัดทริปเป็นถ่ายรูปรถไฟ SL กับซากุระด้วยดีไหม แต่ดูเวลาแล้ว ไม่พอดีจริงๆ ค่ะ เลยต้องเลือกที่อยากไปที่สุด คือไปเดินเล่น ไว้ถ้ามีโอกาส ค่อยวางทริปมาถ่ายรูปรถไฟกันใหม่




สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้.... ข้าวกล่อง เพราะหิวกันแล้วค่ะ นั่งทานข้าวกล่องรถไฟไป ชมวิวสวยๆ บางช่วงก็จะมีพนักงานรถไฟมาเป่าเมาท์ออแกนให้ฟัง คนญี่ปุ่นที่นั่งในตู้เดียวกับกับเอมก็ร้องเพลงกันไปด้วยสนุกสนาน บางช่วงก็จะมาบอกว่าใกล้จะถึงอะไรให้เตรียมตัวดูอะไร รถไฟเส้นทางนี้ผ่านอุโมงค์เยอะมาก และอุโมงค์จะชอบมาเวลาเราจะถ่ายรูป 55555

ข้าวกล่องรถไฟสายนี้ หน้าตาเป็นแบบนี้... มีแถมโปสการ์ดให้ด้วย ><

เปิดมาด้านใน แทแด้นนนนน!!!......ไม่รู้ว่าแต่ละอันมันคืออะไรบ้าง จำได้แต่อันสีชมพูที่มุมล่างซ้าย ให้ความรู้สึกเหมือนกินสบู่มาก 5555 ไม่แนวๆ แต่อันอื่นอร่อยหมดคับ

ชมวิวกันต่อ ชิสึโอกะ เป็นแหล่งปลูกชาที่มีชื่อแหล่งหนึ่งของญี่ปุ่นนะคะ มีพื้นที่ปลูกชามากกว่า 40% ของพื้นที่ปลูกชาทั้งหมดในประเทศ มากเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ไปเที่ยวชิสึโอกะอย่าลืมซื้อชาติดไม้ติดมือกันมาด้วยนะคะ ^^


พนักงานรถไฟมาเป่าเมาท์ออแกนให้ฟังกัน เกือบๆ จะขอเพลงแระ 5555

เวลา 1 ชั่วโมง 17 นาทีผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราก็มาถึง Senzu จาก Senzu ก็นั่งรถบัสต่อไปยัง Sumatakyo onsen รถบัสมีเป็นรอบๆ เวลาจะต่อเนื่องกับเที่ยวรถไฟ และเวลาในแต่ละฤดูกาลก็จะมีแตกต่างกันออกไปบ้าง ค่ารถ 880 เยนนั่งรถบัสไปประมาณ 40 นาทีกับเส้นทางขึ้นเขา เล็กๆ แคบๆ คนขับต้องใช้ความชำนาญมาก บางช่วงเป็นเส้นทางแคบๆ และรถต้องสวนกัน โดยอีกด้านจะเป็นหน้าผาลงไป... เป็นเส้นทางที่เอมมั่นใจมากว่า ขับไม่ได้แน่นอน

วิวจากในรถ ... (มัวไปไหมเนี่ย?)

นั่งหวาดเสียวกันเป็นระยะ สลับกับหลับ 555 ก็ลงป้ายสุดท้ายที่ Sumatakyo onsen ค่ะ ไปถึงแล้วเช็คเวลาขากลับที่บอกที่สถานีให้ดีด้วย จะได้กะเวลาในการเดินได้ถูก เพราะถ้าพลาดรถเที่ยวสุดท้าย อาจจะเศร้าได้ เอมว่า มีเวลา ประมาณ 2 ชั่วโมงจะกำลังดี ถ้ามีเวลามากกว่านั้น ก็สามารถที่จะออกมาแช่น้ำร้อนก่อนกลับได้ เพราะที่ Sumatakyo เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่ดังแห่งหนึ่ง น้ำแร่ที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องการบำรุงผิว หรืออาจจะมาพักค้างคืนแช่ออนเซ็นกันก็ได้ค่ะ

วิวตรงแถวๆ ป้ายรถเมล์
เล่ามาตั้งนานยังพาไปไม่ถึงสะพานที่จะเดินเล่น 5555 รออีกนิดนึงนะคะ เดินอีกไม่ถึง 2 กิโลก็จะถึงแล้ว สะพานในภาพจำของเอมมีชื่อว่า Yume-no-tsuribashi หรือตามป้ายที่เขียนไว้คือ Yume-no Suspension Bridge เห็นประตูด้านหลังที่ปิดอยู่ แต่เดินเข้าไปได้เลยค่ะ จะมีช่องเล็กๆ อยู่ด้านข้าง


เดินกันเพลินๆ

สักพักจะเจออุโมงค์

พอลอดอุโมงค์ไปไม่นาน เราก็จะเจอกับสิ่งนี้ ^^ สะพานที่เราตามหา

เดินลงไปกันอีกไม่ไกลค่ะ

Yume-no Suspension Bridge เป็นสะพานแขวนยาว 90 เมตร ทอดผ่านหุบเขาที่ด้านล่างแม่น้ำที่ตอนนี้ดูเป็นสีเขียวมีเสน่ห์ (บางฤดูกาลก็จะเห็นเป็นสีฟ้าจัด) ภาพสะพานที่เอมเห็นในรูป กับที่เห็นด้วยสายตาตัวเองสวยแตกต่างกันลิบลับ...คือรูปก็สวยมากแล้ว แต่พอมาเห็นด้วยสายตาตัวเอง มันเป็นการพิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่า “กล้องไม่สามารถเก็บความงามได้ดีไปกว่าดวงตาของเรา” ค่ะ และนี่คงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายๆ คนออกเดินทางเพื่อที่จะสัมผัสความงามเหล่านั้นด้วยตัวเอง




เค้าว่ากันว่า (เค้านี่ใครก็ไม่แน่ใจ...) ถ้าใครอธิษฐานเรื่องความรักที่ตรงกลางสะพาน จะสมหวัง.... เอิ่มมม คือ พระเจ้า... เอาความจริงเหอะ ไม่แน่ใจว่าในสายตาคนธรรมดาเป็นอย่างไร แต่ในสายตาคนกลัวความสูงอย่างเอมนั้น.... มัน น่า กลัว มาก T^T คือมันสวยนะ แต่มันน่ากลัวจริงๆ อย่าคาดหวังว่าจะหยุดอธิษฐานอะไรใดๆ แค่สะพานแกว่งนิดหน่อย หัวใจก็ลงไปอยู่ตาตุ่มแล้ว จำได้แม่นว่า ตอนเดินไปได้สัก ¾ ของสะพาน มองไปตรงหน้า เห็นชายหนุ่ม 2 คนกำลังจะเดินสวนลงมา "เห้ยยยยย!!!! ไม่ อย่านะ พวกคุณใจคอทำด้วยอะไร เราจะหลบกันอย่างไร" มองหน้าชายหนุ่ม พร้อมส่งกระแสจิตแรงๆ ไป คาดว่าเค้าจะรับรู้ได้ เลยถอยขึ้นไปรอโดยดี ขอบคุณมาก ไม่งั้นเอมคงได้ยืนร้องไห้อยู่กลางสะพาน

ทำใจก่อนจะเดินข้ามไป T^T
แต่กลัวแค่ไหน เราก็ยังกลั้นใจกดชัตเตอร์มาได้ 55555
มองไปทางซ้าย

มองไปทางขวา

เมื่อถึงอีกฝั่ง ตัดสินใจในทันทีว่า... เราจะไม่เดินย้อนทางเดิม 5555 นี่ไง ชายหนุ่ม 2 คนนั้น


"ไป!!! เพื่อนๆ เราเดินไปข้ามอีกสะพานด้านบนกลับกันเถอะ ได้เห็นวิวครบๆ ไง..." แต่อยากบอกว่า ถ้าใครคิดจะเดินไปข้ามกลับอีกสะพาน คุณควรฟิตร่างกายมาระดับนึงเช่นกัน เพราะจะเป็นทางขึ้นเขาแบบชันๆ หน่อย คือเหนื่อยแฮกจนไม่มีแรงจะคว้ากล้องมาถ่ายรูปเส้นทาง (อย่าลืมว่า เอมเพิ่งผ่านการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนมา 2 วัน และเมื่อวาน... เอมและผองเพื่อนก็เดินเที่ยวอย่างทรหดอดทน T^T) ด้านบนที่ขึ้นไปถึงจะเป็นจุดชมวิว Ozakizaka-tenbodai ตรงจุดนี้จะมีห้องน้ำและมีตู้กดน้ำ แต่ก็... ไม่ค่อยมีวิวอะไรให้ชมเท่าไรนะ ><


เดินต่อไปอีกระยะก็จะถึงสะพาน Hiryu-bashi เป็นสะพานปูน ให้เราข้ามกลับได้อย่างสบายใจ จากนี้ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวแล้ว เดินเล่นถ่ายรูปมาเรื่อยๆ คอยดูเวลาว่าไม่ให้ตกรถก็โอเคแล้วค่ะ





เดินๆ ใกล้จะวนกลับมาถึงทางออก ผ่านซุ้มโทรศัพท์ที่หน้าตาเหมือนหม้อหุงข้าวมาก เอ๊ะ...หรือเราจะหิว


เอมและผองเพื่อนใช้เวลาในการเดินไปประมาณ 90 กว่านาที กลับมาขึ้นรถบัสที่เดิม นั่งหลับไปเพลินๆ มาขึ้นรถไฟย้อนเส้นทางเดิมกลับ ถึงชิสึโอกะตอนค่ำ หิวซ่ก... และไปต่อด้วยการผจญภัยกับคุณป้าร้านโอเด้ง กับความรู้สึกที่อยากให้บุกต้มที่กินไปช่วยกลายเป็นวุ้นแปลภาษาด้วยเหอะ T^T

แถมท้ายกันด้วย ร้านอาหารในชิสึโอกะ ^^ นิดหน่อยแบบพอกรุบกริบ

ร้านแรก Highly recommend มาากกกก  อร่อยมากกกก ชื่อร้าน Idaten ดูข้อมูลเพิ่มเติม พิกัดที่ตั้งได้ตาม ลิงค์ นี้ คือไปกัน 3 คน สั่งมากัน 3 เมนู อร่อยทุกเมนู กลับมาก็ยังอยากไปกินอีก ไม่เคยคิดจะชอบราเมง ก็มาชอบร้านนี้แหละคับ

หน้าร้านเป็นแบบนี้

อร่อยทุกอย่างเลย ><
 


ร้านที่สอง อันนี้เกิดจากผองเพื่อนอยู่ดีๆ ก็อยากกินเบียร์ เลยลองค้นหาร้านเบียร์ที่อยู่ไม่ไกลจากที่พัก เอมเองไม่กินแอลกอฮอล์ เลิกมานาน ก็ไปนั่งเล่นกินน้ำอัดลมไป พนักงานน่ารักดีค่ะ พยายามสื่อสารช่วยเราเต็มที่ ^^ เพื่อนเอมบอกว่าเบียร์ใช้ได้ ชื่อร้าน "อ้อยเบียร์" 55555 ไม่ใช่แระ "AOI Brewing" รายละเอียดเพิ่มเติม ตาม ลิงค์ นี้ไปเลยค่ะ


เมนูเบียร์


ร้านสุดท้าย ไม่รู้จะเรียกว่าแนะนำดีไหม คือใครต่อมิใครก็บอกกันว่า ไปชิสึโอกะ ต้องไป Oden street นะ ... พิกัดตามที่ปักหมุดไว้ใน ลิงค์ นี้ มันจะเป็นตรอกเล็กๆ ที่มีร้านโอเด้งหลายๆ ร้านอยู่รวมๆ กัน แต่ละร้านก็เป็นร้านเล็กๆ มีที่นั่งสัก 6 7 ที่นั่งในร้านติดกับเคาท์เตอร์... ร้านที่เค้าแนะนำมา วันที่เอมไปก็ดันปิดพอดี... เลยเสี่ยงลองไป 1 ร้าน... เอิ่มมม อืมมม อย่างที่บอก อยากให้มีวุ้นแปลภาษามากมาย  แขกในร้านคนอื่นๆ ก็พยายามช่วยสื่อสารกันเต็มที่ วิธีที่ดีที่สุดคือชี้ๆ เอา แล้วค่อยลุ้นว่าจะเป็นอะไร 5555 โอเด้งที่นี่จะน้ำสีดำๆ หน่อย สำหรับเอม เอมว่าเค็มไปนิด แล้วก็จะมีพวกของทอด เป็นร้านที่เหมาะสำหรับนั่งกินเล่นๆ เป็นกับแกล้มพร้อมกับดื่มเบียร์ และเมาท์มอยกับเจ้าของร้าน ดังนั้นใครอยากมากินเอาอิ่มเอมไม่ค่อยแนะนำคับ แต่มากินเอาบรรยากาศนิดๆ หน่อยๆ นี่ โอเลย

ซ้าย ขวา มีร้านให้เลือกหลายร้าน

รีวิวย้อนอดีตคราวนี้ ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ค่ะ ^^ ไว้คราวหน้าจะย้อนอดีต หรือเล่าปัจจุบัน ไว้ลุ้นกันนะคะ

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระจุฑาธุชราชฐาน หนึ่งในตำนานของรัชกาลที่ 5 และเกาะสีชัง



"สีชังชังแต่ชื่อ           เกาะนั้นฤา จะชังใคร
ขอแต่แม่ดวงใจ         อย่าชังชิงพี่จริงจัง
ตัวไกลใจพี่อยู่           เป็นคู่น้องครองยืนยัง
ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง    ตั้งใจติดมิตร์สมาน"
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6


เปิดมาด้วยภาพสะพานอัษฎางค์และพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นสำหรับพิมพ์ในหนังสือสมุทรสาร เมื่อปีขาล พ.ศ.2457

เอมคิดว่าเกือบทุกคน คงเคยได้ยินชื่อเกาะสีชัง บางคนอาจจะเคยได้ไปเที่ยว บางคนอาจเคยไปมาหลายรอบ เอมเองตั้งแต่เกิดจนจะแก่ >< ได้ยินชื่อมานาน แต่เป็นครั้งแรกที่ได้ไป อาจจะเป็นเพราะ บ้านเอมก็อยู่บนเกาะเหมือนกัน (เกาะภูเก็ต) เลยทำให้ไม่ค่อยตื่นเต้นที่จะไปเกาะเท่าไร จนกระทั่งเริ่มได้ยินข่าวของการบูรณะพระราชวังบนเกาะสีชังโดยจุฬาลงกรณ์เมื่อหลายปีก่อน... ชื่อเกาะสีชังก็เข้ามาอยู่ลิสต์สถานที่ที่อยากไปในทันที แต่ก็นั่นแหละ กว่าจะหาจังหวะเวลาในชีวิตมาเที่ยวชมได้ ก็ล่วงเลยจากที่ตั้งใจแต่แรกมาหลายปี

เรื่องเล่าคราวนี้ เอมจะขอเน้นไปที่ พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นหลักนะคะ แต่ก็จะมีเสริมๆ ที่ท่องเที่ยวอื่นๆ บนเกาะสีชังบ้าง แต่เอมเองก็ยังไปไม่ค่อยครบ เพราะเพลิดเพลินกับการเดินชมวัง เลยทำให้ละเลยที่เที่ยวอื่นๆ ไปเสียหมด คงต้องหาเวลาไปเก็บตกเที่ยวหน้า

การเดินทางไปท่าเรือ : เกาะสีชัง สามารถเดินทางไปถึงด้วยเรือโดยสาร (ไม่มีเฟอร์รี่เอารถข้ามนะคะ) สำหรับคนที่จะเดินทางไป สามารถโดยสารรถไปลงแถวๆ เกาะลอย หรือเทศบาลอำเภอศรีราชา ถ้าขับรถไป ไปจอดรถไว้ที่เทศบาลอำเภอศรีราชาได้ค่ะ (จอดฟรี) จากตรงนั้นเดินไปท่าเรือ ระยะทางประมาณ 1 กิโล พอเหงื่อซึมๆ หรือถ้าของหนัก ขี้เกียจเดินเรียกรถ 2 แถวได้เหมือนกันค่ะ


เห็นป้ายที่แขวนอยู่ตรงกลางถนนไหมคะ ^^ เข้าซอยตามป้ายนี้ไปเลยค่ะ


เดินไปจนสุด ก็จะพบกับจุดขายตั๋ว (เอมถ่ายตอนวันกลับค่ะ)


การข้ามเรือ : เรือที่จะข้ามไปเกาะสีชัง จะออกทุกชั่วโมงค่ะ เรือออกจากฝั่งศรีราชา เที่ยวแรกประมาณ 7.00 น. เที่ยวสุดท้ายประมาณ 20.00 น. สำหรับเรือที่ออกจากเกาะสีชัง เที่ยวแรก ประมาณ 6.00 น. และเที่ยวสุดท้ายประมาณ 19.00 น. สำหรับบางช่วงที่นักท่องเที่ยวเยอะ เรือบางรอบอาจจะออก 2 ลำค่ะ แต่ออกไม่พร้อมกันนะคะ ค่าเรือเที่ยวละ 50 บาท เรือมี 2 ชั้น นั่งชั้นบนอากาศจะดีกว่าด้านล่างค่ะ ด้านล่างจะอบอ้าวนิดนึง เรือบางลำจะแวะส่งคนที่เกาะขามใหญ่แป๊บนึง ก่อนจะเข้าท่าที่เกาะสีชังนะคะ

ระหว่างที่เรานั่งเรือ จะเห็นเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ แล้วก็มีเรือโป๊ะ หรือเรือโยงขนาบข้างเพื่อขนถ่ายสินค้าแบบนี้เยอะมาก ตลอดเส้นทางเลยค่ะ

ท่าเรือเกาะขาม
การเดินทางบนเกาะ : การท่องเที่ยวบนเกาะโดยส่วนใหญ่จะใช้รถสกายแล็ป หรือรถ 3 ล้อไปยังจุดต่างๆ ค่ะ นอกเหนือจากนั้นก็จะมีพวกรถมอเตอร์ไซค์ จักรยานให้เช่า... รถกายแล็ปถ้าเหมาให้เค้าพาเที่ยว 4 จุดในหนึ่งวัน คิดราคาอยู่ที่ 250 บาทต่อกลุ่มค่ะ (รถนั่งได้น่าจะเต็มที่ที่ 4-5 คน) 4 จุดก็จะมีศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ จุฑาธุชราชฐาน หาดถ้ำพัง (ถ้าจำชื่อไม่ผิด) และช่องเขาขาดค่ะ ถ้าอยากไปที่อื่นๆ มากกว่านี้ ก็สามารถพูดคุยต่อรองราคาได้นะคะ โดยพี่คนขับจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลาค่ะ เค้ามาส่งแล้วก็จะไปที่อื่น พอเราดูเสร็จแต่ละที่ก็โทรให้เค้ามารับไปที่ถัดไปค่ะ
ถ้าจะไปแค่ที่วังอย่างเดียวจากท่าเรือ ราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60-80 บาท ค่ะ อันนี้ถามๆ พี่คนขับรถมา




ที่พักที่กิน : ที่พักบนเกาะตอนนี้ มีเยอะขึ้นมาก เลือกพักได้ตามอัธยาศัยและกำลังทรัพย์เลย ร้านอาหารก็มีจำนวนไม่น้อยค่ะ

เกริ่นมานานนน ถึงเวลาขึ้นรถ ไปเที่ยวกันดีกว่าค่ะ ^^
ปล. คราวนี้อาจจะมีคำราชาศัพท์เยอะไปบ้าง แต่เป็นคำที่เราคุ้นๆ กันอยู่แล้ว และบางส่วนก็จะขอใช้คำธรรมดาเพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ
ปล.2 ข้อมูลในนี้ เอมนำมาจากนิทรรศการที่จัดแสดงในพระจุฑาธุชราชฐาน เอกสารแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือ "สีชัง ความหลังครั้งรัชกาลที่ 5" ของอาจารย์เอนก นาวิกมูล และเวปพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานเป็นหลักนะคะ ถ้าเพื่อนๆ มีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ก็เพิ่มเติมมาได้ในนี้เลยนะคะ ^^




ก่อนจะไปชมวัง เรามารู้จักเกาะสีชังกันสักนิดนึงก่อนนะคะ ชื่อเกาะสีชังมีปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เรียกชื่อ เกาะ "สระชงง" (สระจัง) มีคนสันนิษฐานว่า ชื่อนี้มาจากคำว่า "สทึง" ในภาษาเขมร ที่แปลว่า ห้วงน้ำลึก หรืออาจจะมากจากคำว่า "สีห์ชังฆ์" ที่แปลว่า แข้งสิงห์ ตามรูปร่างของเกาะ สมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยธนบุรี ปรากฏชื่อเรียกในสมุดภาพไตรภูมิ เรียกชื่อว่า "เกาะสีชัง" และใชัมาจนทุกวันนี้

เกาะสีชังอยู่บนเส้นทางเดินเรือทะเล ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การเป็นท่าเรือเนื่องจากมีภูเขาสูง สามารถบังคลื่นลมได้ดี จวบจนทุกวันนี้ เกาะสีชังก็ยังเป็นพื้นที่ขนถ่ายสินค้าที่สำคัญ เกาะสีชังได้ชื่อว่าเป็นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ และอยู่ไม่ไกลเมืองหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวตะวันตกนิยมมาพักตากอากาศที่เกาะสีชัง จึงมีการสร้างเรือนพักให้เช่าอาศัย ต่อมาในปี พ.ศ.2431 รัชกาลที่ 5 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้างเรือนพักฟื้นผู้ป่วย 3 หลัง เรียกว่า "อาไศรยสถาน" ตั้งพระราชหฤทัยว่าจะเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ใช้พักอาศัย และเรียกชื่อตามพระนามของเจ้านายที่ทรงบริจาคทรัพย์ซื้อเครื่องตกแต่งและเครื่องใช้ได้แก่ พระบรมราชเทวี (ย่าของรัชกาลที่ 8 และ 9) พระวรราชเทวี (แม่ของรัชกาลที่ 6 และ 7) และพระอรรคชายาเธอ (ตรงนี้จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งนะคะ) เป็นที่มาของชื่อ "ตึกวัฒนา" "ตึกผ่องศรี" และ "ตึกอภิรมย์" โดยอาไศรยสถานนี้ สร้างเสร็จและเปิดใช้ในปี พ.ศ.2432

นอกจากนี้ทรงโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) เสด็จมาประทับรักษาอาการพระประชวรที่เกาะสีชัง พระอาการก็ดีขึ้นมาก และต่อมาไม่นาน เจ้าฟ้าพระองค์อื่นๆ ที่ทรงพระประชวรได้เสด็จมาประทับและก็อาการดีขึ้น  โดยในที่นี้มี 2 พระองค์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระจุฑาธุชราชฐานเป็นอย่างมาก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (น้องชายแม่เดียวกันกับรัชกาลที่ 6) ที่ประทับรักษาตัวอยู่เป็นเวลาหลายเดือน (โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2434) ทำให้ชื่อสถานที่หลายๆ ที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์ท่าน ส่วนชื่อพระจุฑาธุชราชฐาน มาจากชื่อของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก (น้องชายแม่เดียวกันกับรัชกาลที่ 6 และเจ้าฟ้าอัษฏางค์) ซึ่งประสูติที่เกาะสีชังนี้เมื่อปี พ.ศ. 2435 ค่ะ ^^

และเนื่องจากในช่วง พ.ศ.2434 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประทับที่เกาะสีชังเป็นระยะเวลานานเพื่อดูแลสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ จึงไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปพักชั่วคราว และต่อมาในปี พ.ศ. 2435 ก่อนที่เจ้าฟ้าจุฑาธุชจะประสูติ ก็ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชฐานบนเกาะเพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน จึงทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บุคคลทั่วไปจึงไม่สามารถเข้าพักที่อาไศรยสถานเป็นการถาวร

ในปี พ.ศ.2436 ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส (เหตุการณ์ รศ.112) ทำให้รัชกาลที่ 5 และเจ้านายพระองค์อื่นๆ ไม่ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาที่เกาะสีชัง จนกระทั่งปี พ.ศ.2437 ถึงแม้ว่าจะได้มาประทับ แต่ก็ไม่ได้มีการสร้างต่อเติมพระราชวังอีก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2443 ที่ได้เสด็จประพาสเกาะสีชังและทอดพระเนตรเห็นพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งและตำหนักที่เป็นไม้ ไปสร้างในที่อื่น โดยรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ ไปสร้างเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆ บริเวณพระราชวังดุสิต

นับตั้งแต่นั้นมาพระจุฑาธุชราชฐานก็ถูกทิ้งร้างไป ในปี พ.ศ.2475 ได้มีการสำรวจสิ่งก่อสร้างโดยสำนักพระราชวัง พบว่าเหลือสิ่งก่อสร้างไม่มากนัก เช่่น ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ สะพานและท่าน้ำ ส่วนพระที่นั่งหรือตำหนักอื่นๆ ไม่ปรากฏในรายการเลย จนกระทั่ง พ.ศ.2521 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิ์การใช้ที่ดินบนเกาะ จำนวน 224 ไร่ จากกรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และได้รับมอบหมายให้ดูแลพระจุฑาธุชราชฐาน จึงได้เกิดการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนี้และอาคารที่เหลืออยู่ 5 หลัง โดยความร่วมมือกับทางกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2533
ปัจจุบันพื้นที่ส่วนสถานีวิจัย อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และพื้นที่ในส่วนพระราชฐาน (ประมาณ 219 ไร่) อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารงานศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกเหนือจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ระหว่างการขุดแต่งบูรณะ ก็พบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง เช่น เครื่องปั้นดินเผา  เบี้ยดินเผา เครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม และอื่นๆ เช่น เหรียญตรา เหรียญสตางค์ ขวด โหลแก้ว สันนิษฐานว่าเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ที่มาประทับแรมและพักแรมใช้สอย ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประทับที่เกาะสีชังค่ะ


พระจุฑาธุชราชฐาน 
เป็นพระราชวังบนเกาะแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 มีพระราชประสงค์ให้เป็นพระราชฐานสำหรับประทับในฤดูร้อน ภายในจะมีบ่อน้ำ สระน้ำอยู่หลายบ่อ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหิน ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้มากนัก จากข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่าภายในพระราชฐานมีพระที่นั่ง 4 องค์ พระตำหนัก 14 หลัง  ประตูภายในพระราชฐานมี 8 ประตู มีสวนดอกไม้ ศาลาพักผ่อน บ่อน้ำ สระน้ำ บันได ซึ่งแต่ละสิ่งก่อสร้างจะมีชื่อเพราะๆ คล้องจองกัน มีป้ายหินอ่อนบอกชื่อไว้  อย่างชื่อของบันไดชื่อจะมีความสอดคล้องกับชื่อของหิน เช่นบันไดเขี้ยวหนุมาน บันไดผสานโมรา บันไดศิลาสีอ่อน ฯลฯ ส่วนชื่อพระที่นั่งพระตำหนักต่างๆ เป็นชื่อเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า และเพชรพลอย เช่น พระที่นั่งเมขลามณี พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ พระตำหนักเพ็ชรระยับ พระตำหนักทับทิมสด ฯลฯ

เวลาทำการ : ในส่วนของอาคารต่างๆ จะเปิดทำการวันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น. แต่นอกเหนือจากเวลานั้น สามารถที่จะเข้าไปเดินเล่นในบริเวณของพระราชฐานได้ค่ะ อย่างเอมไปช่วงเช้า ก็มีคนไปเดินเล่น ไปวิ่ง ปั่นจักรยานกันหลายคนอยู่ ^^


ป้ายชื่อของสถานที่ต่างๆ
ธารเครื่องหอมปน

พระที่นั่งเมฆขลามณี

พุฝอยสุหร่าย 
บันไดเขี้ยวหนุมาน



ชลทัศนสถาน
เมื่อเข้าประตูมาในเขตของพระจุฑาธุชราชฐาน เราจะพบกับพื้นที่ในส่วนของ "ชลทัศนสถาน" กันก่อนเลยค่ะ เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับทะเล คราวนี้เอมไม่ได้เข้าไปชม พอดีเดินชมวังเพลินเลยเวลาปิดทำการ แถมอีกวันก็มาแต่เช้ายังไม่เปิด เลยอดชมเลยค่ะ T^T ไว้จะหาโอกาสมาเก็บภาพมาฝากทุกคนอีกครั้งนะคะ
เวลาทำการ : เปิดทำการวันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน



ศาลศรีชโลธรเทพ 
เดิมทีศาลศรีชโลธรเทพ เป็นศาลที่ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ ตั้งแต่อดีต ทุกปีชาวเกาะสีชังจะมีการบวงสรวงเทพารักษ์ที่บริเวณศาลนี้ มีการแสดงละคร ลอยเรือ ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลขึ้นใหม่ โดยย้ายจากที่เดิมที่อยู่ริมถนน ไปอยู่บริเวณไหล่เขา ด้านเหนือ ปรับพื้นที่ให้กว้างขวางใหญ่โตขึ้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2434 พระราชทานนามเทพารักษ์ว่า ศรีชโลธรเทพ โดยได้มีการงานฉลองสถานที่ที่ได้สร้างใหม่พร้อมๆ กัน จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางริมค่ายหลวง อัษฎางค์ประภาคาร สะพานอัษฎางค์ เสาธงอัษฎางค์(บนยอดพระจุลจอมเกล้า) ถนนขนาดเล็กใหญ่จำนวนมาก บ่อน้ำบนเนินไร่ตาสี วะนะหรืออุทยานใหญ่บนภูเขา และศาลศรีชโลธรเทพ ระหว่างวันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ.2434


รถสกายแล็ปจะพาเราเลียบหาดมาไม่ไกล แล้วหย่อนเราลงตรงหน้าป้อมยาม ตรงนี้ ถ้าใครสนใจจะติดต่อยุวมัคคุเทศก์ก็ติดต่อได้นะคะ แต่เอมไม่แน่ใจว่าจะมีทุกวันหรือไม่ จะได้ให้ค่าขนมเป็นกำลังใจให้น้องๆ  มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ค่ะ 


วิวจากตรงทางเข้าเลยค่ะ ^^

น้องจะพาเรามาที่ป้ายนี้ และแนะนำว่า มันมีเส้นทางเดินชมแบบไหน เรามีเวลามากน้อยแค่ไหน อยากเดินรอบใหญ่ หรือรอบเล็ก ตอนเอมบอกว่า "พี่มีเวลา เอารอบใหญ่เลยน้อง" เห็นน้องสะดุ้งเล็กๆ ทำหน้าเศร้าๆ แล้วก็รับคำว่า "ครับ" และออกเดินคอตกนำไป ... นี่เอมแกล้งเด็กหรือเปล่าเนี่ยยย 


เริ่มต้นเดินกันเลยยยย



 ศาลรัชกาลที่ 5
เส้นทางเดินรอบใหญ่ จะพาเรามาจุดแรกคือ ที่ศาลรัชกาลที่ 5 ศาลจะตั้งอยู่บนเนินเขา มองเห็นบริเวณของพระราชฐาน จัดสร้างขึ้นช่วงที่เริ่มมีการบูรณะพระจุฑาธุชราชฐาน ประมาณปี พ.ศ.2535 เอมชอบพระบรมรูปของพระองค์มาก ทรงนั่งไขว้ห้าง หน้ายิ้มน้อยๆ ดูสบายๆ เข้ากับสถานที่ ที่เป็นที่พักผ่อนอย่างสีชังเป็นอย่างมากค่ะ



จากบริเวณศาล มองลงมาด้านหน้า

สระมหาโนดาดต์
เดินขึ้นเขาไปจุดต่อไป เป็นหนึ่งในสระน้ำที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ชื่อ สระมหาโนดาดต์โดยในบริเวณพระราชฐานจะมีการสร้างสระน้ำ บ่อน้ำสำหรับดักน้ำฝน และน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา กระจายอยู่ทั่วบริเวณในระดับต่างๆ และมีชื่อกำกับไว้ทั้งหมดค่ะ

เรื่องน้ำ เป็นปัญหาหนึ่งของเกาะสีชังมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากลักษณะพื้นที่ที่เป็นหินซะส่วนมาก การขุดบ่อน้ำบาดาลอะไรนั้นเป็นไปได้ยาก น้ำที่ใช้เป็นหลักตั้งแต่อดีตคือ "น้ำฝน" แต่ละบ้านจะมีบ่อเก็บน้ำอยู่ใต้บ้านเพื่อที่จะเก็บน้ำในหน้าฝนไว้ให้พอใช้ไปตลอดทั้งปี โดยขนาดบ่อก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนของคนในบ้าน แต่การขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำของชาวเกาะสีชังก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากเป็นชั้นหิน ทำให้ที่สีชังมีอาชีพที่น่าสนใจอยู่อาชีพหนึ่ง คือ อาชีพ "ช่างตีหิน" ที่จะขุด เจาะ หินลงไป เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ถ้าขุดไปเรื่อยๆ จนเจอหินส่วนที่แข็งมาก เค้าจะสุมไฟไว้ข้ามคืน แล้วเช้ามาก็จะนำน้ำมาราด หินก็จะร้าว สามารถที่จะทุบออกได้ง่ายขึ้น เท่าที่คุยกับพี่ที่เค้าเป็นคนสีชัง เค้าบอกว่า ตอนนี้บนเกาะเหลือคนทำอาชีพนี้อยู่ 2 คนค่ะ คนนึงอายุ 60 กว่า อีกคนอายุ 70 กว่า...

ระหว่างทางเดิน จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะค่ะ


หินระฆังและเจดีย์เหลี่ยม
จากรูปหินระฆังคือหินที่อยู่ก้อนบนสุด เมื่อลองเอาหินก้อนใหญ่ๆ หน่อยไปเคาะ เราจะได้ยินเสียงเหมือนกำลังเคาะระฆัง


ส่วนเจดีย์เหลี่ยม ตั้งอยู่ใกล้ๆกับหินระฆัง เป็นเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนย่อมุมไม้สิบสอง หันด้านต่างๆ ตรงกับทิศทั้ง 4 ไม่ปรากฏข้อมูลประวัติการสร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 2 (จากบันทึกของ John Crawfurd ที่ได้ทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2365)


จากนั้น เราก็เดินขึ้นเนินนิดหน่อย ไปวัดอัษฎางคนิมิตรกันค่ะ 


พระเจดีย์อุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตร
เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 แทนวัดปลายแหลมที่มีอยู่เดิม พระอุโบสถเป็นอาคารทรงกลม ประตูหน้าต่างเป็นรูปโค้งยอดแหลมตามลักษณะของศิลปะแบบโกธิก มีช่องแสงประดับด้วยกระจกสี ด้านบนพระอุโบสถเป็นเจดีย์ทรงลังกา



ตรงระเบียงโดยรอบจะมีศิลาจารึกคำสอนในพระพุทธศาสนา 8 หลัก แทนใบเสมา แต่ตอนนี้ ตัวอักษรบนหินเลือนไปมากแล้วค่ะ จึงมีแท่นกระจกที่คัดลอกคำสอนของแต่ละหลักมาไว้ให้อ่านอยู่ด้านหน้าหลักทั้ง 8 ค่ะ

ด้านหน้าพระเจดีย์อุโบสถ จะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งนำหน่อมาจากพุทธคยา โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำมามอบให้กับรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2434 ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ ถือเป็นต้นไม้ที่สำคัญมาก เพราะเป็นต้นที่มีการนำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากพุทธคยา ซึ่งเป็นต้นลูกหลานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และเป็นครั้งแรกที่มีการนำมาจากพุทธคยาโดยตรงค่ะ


ทางเดินในพระราชฐานน่าเดินเล่นมากจริงๆ


เรือนผ่องศรี 
หนึ่งในเรือนอาไศรยสถาน ตั้งชื่อตามพระนามของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (ยศในขณะนั้น - พระองค์ท่านเป็นแม่ของรัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าอัษฎางค์ เจ้าฟ้าจุฑาธุช และรัชกาลที่ 7 ค่ะ) หรือ เนื่องจากทรงบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อของตกแต่งอาคารหลังนี้ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวรูปกลม หลังคาทรงกลม ยอดเป็นรูปโดม มีประตูทั้งหมด 9 ประตู
ปัจจุบันด้านในจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อเกาะสีชังในอดีต


พระบรมราชานุสาวรีย์นี้หล่อจากพระบรมฉายาลักษณ์ของเดิมที่มีบันทึกไว้ว่าทรงฉาย ณ เกาะสีชัง ราว พ.ศ.2434 - 2436 จากซ้ายไปขวาได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานทุนทรัพย์ ร่วมกับนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2516 เพื่อใช้ในการจัดสร้าง

ภาพจากหนังสือ อาจารย์เอนก

เรือนอภิรมย์

หนึ่งในเรือนอาไศรยสถาน ตั้งชื่อตามพระนามของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
(ยศในขณะนั้น) หรือ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (คุ้นๆ จากชื่อละครไหมคะ? ^^ -- พระโอรสของท่านกับรัชกาลที่ 5 เป็นต้นราชสกุล ยุคลค่ะ) เนื่องจากทรงบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อของตกแต่งอาคารหลังนี้  ลักษณะเป็นอาคารตึกชั้นเดียว ทรงสีเหลี่ยมผืนผ้ายาว และมีเรือนครัว และห้องน้ำ
ปัจจุบันด้านใน จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยโมเดลจำลองสถานที่ต่างๆ

ทางเดินจากเรือนผ่องศรี ไปเรือนอภิรมย์


เป็นเรือนที่ดูแล้วน่าอยู่จริงๆ ค่ะ

ด้านในมีโมเดลของอาคารต่างๆ ที่มีในพระราชฐาน

ตาคนนี้มาทำอะไรอยู่หลังตึก????
ต้นไม้ระหว่างทาง สวยมากจริงๆ ค่ะ โดยเฉพาะต้นลีลาวดี แต่ละต้นดูรู้เลยว่า อายุไม่ใช่น้อยๆ ทรงสวยมาก มองเพลิน เดินเพลินจริงๆ

ออกเดินจากเรือนอภิรมย์ ไปยังจุดถัดไปค่ะ ลงเขามาเลียบชายทะเลกัน


เรือนวัฒนา
นึ่งในเรือนอาไศรยสถาน ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ยศในขณะนั้น  - ท่านเป็นย่าของรัชกาลที่ 8 และ 9 ค่ะ) เนื่องจากทรงบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อของตกแต่งอาคารหลังนี้  ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าออกทะเล รูปแบบอาคารเป็นรูปแบบตะวันตก ที่มีเฉลียงตลอดความยาวของอาคาร ... ส่วนตัวแล้ว ชอบบ้านมีเฉลียงแบบนี้มากเลยค่ะ ทั้งของเรือนอภิรมย์ และเรือนวัฒนา ... อยากได้บ้านแบบนี้ ><
ปัจจุบันด้านใน จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชังสมัยรัชกาลที่ 5 และมีรูปปั้นหินอ่อนของพุฝอยสุหร่าย (ของเดิม) มาจัดแสดงไว้ด้วย

ส่วนนิทรรศการด้านบนค่ะ มีรูปเก่าๆ ของที่นี่ให้ดูหลายรูปเหมือนกัน

รูปปั้นหินอ่อน พุฝอยสุหร่ายที่ชั้นล่าง
บันทึกที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงบันทึกไว้ ตั้งแต่ 5 ขวบ ถ้าใครสนใจอยากอ่านแบบเต็มๆ เข้าไปอ่านได้ที่ บันทึกเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ นะคะ

มองออกไปด้านหน้า... ไกด์หนุ่มน้อยของเราแลดูพร้อมที่จะสลบไสลตลอดเวลา... พี่ขอโทษ T^T


เรือนไม้ริมทะเล
ออกจากเรือนวัฒนามาทางซ้ายนิดเดียว เราก็จะพบเรือนไม้สีเขียวเข้ม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างในปีใด น่าจะเป็นเรือนพักตากอากาศของชาวต่างประเทศมาก่อน และได้มีการปรับปรุงเป็นที่ประทับแรมของพระราชวงศ์ ลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวติดกับ 2 ชั้น หันหน้าออกทะเล
ปัจจุบันด้านใน จัดแสดงนิทรรศกาลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญและประเพณีบนเกาะสีชัง รวมถึงวัตถุโบราณที่ขุดได้จากฐานพระที่นั่ง แผนที่การเดินชมภายในบริเวณพระจุฑาธุชราชฐาน และมีร้านขายอาหารว่างเครื่องดื่มอยู่ในอาคารด้วยค่ะ


ด้านในมีแผนที่ขนาดใหญ่ แสดงจุดต่างๆ และเส้นทางเดินชมภายในพระราชฐาน เหมือนกับป้ายด้านหน้าที่เราเห็นตอนเข้ามา

เรื่องราวของเกาะสีชัง

ร้านเครื่องดื่มภายในเรือน


พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ 
ตั้งอยู่ริมหาด ใกล้สะพานอัษฎางค์ สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นรูป 8 เหลี่ยม 3 ชั้น เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 แต่สร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็เกิดเหตุพิพาทไทย-ฝรั่งเศส โดยทหารฝรั่งเศสบางส่วนขึ้นยึดเกาะสีชัง ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักไป ถึงแม้เหตุการณ์จะสงบ ก็ไม่ได้มีการสร้างต่อ ต่อมาได้รื้อมาสร้างใหม่ในกรุงเทพ บริเวณพระราชวังดุสิต แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ ปัจจุบันจึงเหลือเพียงฐานรากของพระที่นั่งเท่านั้นค่ะ ซึ่งถ้าได้ดูจากรูปถ่ายในอดีตตอนก่อนที่จะรื้อที่ถ่ายจากทะเลเข้ามา จะเห็นว่ามีความสง่า สวยงามมาก เสียดายว่าเอมไม่เคยได้มีโอกาสเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ไม่อย่างนั้นคงจะสามารถเห็นภาพตอนที่อยู่บนเกาะสีชังนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นค่ะ

ตอนเช้าเอมมาถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นด้านหน้าพระที่นั่งนี้ค่ะ ... ถ้าพระที่นั่งสร้างเสร็จ เจ้านายที่ประทับอยู่ คงได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ ทุกเช้า


สะพานอัษฎางค์ 
จุดสุดท้ายของการเดินชมพระจุฑาธุชราชฐานแล้วค่ะ เด็กน้อยยุวมัคคุเทศก์ของเราดูเหน็ดเหนื่อยมากกว่าเราหลายเท่า 555 ตรงนี้คือ สะพานอัษฎางค์ โดยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องจากความไม่สะดวกเวลาน้ำขึ้น น้ำลง โดยสะพานอัษฎางค์เป็นสะพานท่าเรือขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้สัก มีโรงพักหรือศาลาบนสะพาน 3 หลัง ที่เห็นปัจจุบันเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิมค่ะ เนื่องจากของเดิมได้ผุพังไปหมดแล้ว



สำหรับการเดินชมพระจุฑาธุชราชฐานรอบใหญ่ ก็จะมีจุดหลักๆ ทั้งหมดตามนี้ค่ะ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่เอมมองว่าถ้าอยากเดินเพลินๆ ดูรายละเอียด อ่านข้อมูลให้ครบทุกจุด น่าจะมี 3 ชั่วโมง จะกำลังดีค่ะ มาตอนช่วงบ่ายๆ แล้วอยู่รอชมช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก บรรยากาศดีมากๆ เลยค่ะ เห็นมีหลายครอบครัวเลยที่เอาเสื่อมาปู นั่งทานอะไรกันไป ให้เด็กๆ เล่นน้ำกันไป ดูแล้วมีความสุขมากๆ
จริงๆ ภายในพระจุฑาธุชราชฐาน ยังมีอีก 2 จุดที่เอมไม่ได้ไปถ้าดูตามแผนที่นะคะ เพราะเวลาไม่พอจริงๆ คือ จุดชมวิวเขาน้อย และเรือนบริการ คงต้องหาเวลามาตามเก็บอีกสักรอบ 2 รอบซะแล้ว ^^

นอกเหนือจากพระจุฑาธุชราชฐานแล้ว บนเกาะสีชัง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกหลายจุดเหมือนกันค่ะ เอมเอามาบางส่วนที่เอมได้ไปมาให้ชม เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนวางแผนเที่ยวนะคะ

ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ จะอยู่บริเวณด้านเหนือของเกาะค่ะ ตั้งอยู่บนเนินเขา มีบันไดขึ้นพอให้หอบเล่น เอมเห็นบางคนนั่งรถรางขึ้นลง แต่ไปดูเค้าเขียนว่าไว้ส่งของ ไม่แน่ใจว่าบริการเฉพาะผู้สูงอายุหรือเปล่านะคะ ศาลเจ้านี้มีผู้คนเคารพนับถือกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขาย พี่ที่อยู่สีชังเล่าว่า แต่ก่อนเรือที่ต่อเสร็จใหม่ๆ จะพาล่องเรือมาไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ก่อนที่จะออกเรือ เหมือนเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยค่ะ




วิวสวยๆ จากด้านบนศาลเจ้า

ช่องอิศริยาภรณ์ (เขาขาด) 
เรียกกันง่ายๆ ว่าช่องเขาขาดค่ะ เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยมากบนเกาะสีชัง ไปถึงจะมีบันไดเดินขึ้นไปด้านบน เคยเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับชมวิว และดูดาวของรัชกาลที่ 5 มีป้ายข้อมูลที่บอกว่าเป็น "ที่แลราชโกษาและศิลาสรรพศาสตร์" (อ่านตอนแรก ใจคิดไปถึงเรื่อง Harry Potter ซะงั้นนน) ตั้งอยู่ตรงยอดมหาวชิราวุธ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2434 ค่ะ มีก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งตั้งอยู่ เข้าใจว่าเป็น 1 ใน 4 จารึกที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้จารึกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ
ตรงจุดนี้ก็เดินเล่นขึ้นมาชมวิวได้ค่ะ แต่ถ้าอยากชมวิวจริงๆ คิดว่าเดินไปตามสะพานด้านล่างวิวสวยกว่าเดินขึ้นไปข้างบนค่ะ




ไปเดินเล่นบนสะพานชมวิวกันค่ะ



ศิลาจารึกรัชกาลที่ 5
จะอยู่บริเวณสนามฟุตบอลข้างโรงเรียนเกาะสีชังค่ะ มีป้ายบอกว่าเป็นศิลาจารึกสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2434 มีทั้งหมด 4 แห่ง คือ 1) ยอดเขาพระจุลจอมเกล้า 2) ปากถ้ำพระจุลจอมเกล้า 3) เนินดินใกล้ต้นอินทนิลและนรรัตนาคาร - คือตรงนี้ 4) ที่ตำบลที่แลราชโกษาแห่งหนึ่ง เนื้อหากล่าวถึงการมาประทับที่เกาะสีชังของพระองค์ การสร้างสถานที่ต่างๆ ถนนหนทางขึ้นบนเกาะสีชัง แต่จากข้อมูลมีหลายคนระบุว่าเดิมจารึกหลักนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ที่นี่ และหลายคนก็อยากให้มีการย้าย เพราะว่าอยู่ติดกับสนามฟุตบอลถูกลูกฟุตบอลมากระทบอยู่เป็นประจำและไม่ค่อยมีใครมาดูแล เห็นว่าทางกรมศิลป์จะไปค้นหาว่าที่เดิมตั้งอยู่ตรงไหน อันนี้เป็นข่าวตั้งแต่ปี 2554 นะคะ แต่ปัจจุบันก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม... เลยไม่แน่ใจเหมือนกัน


ใกล้ๆ กัน จะมีต้นเลียบต้นใหญ่มาก 2 ต้น เอนเข้าหากัน และมีศาลอยู่ที่โคนต้นไม้เขียนไว้ว่า "ศาลาพระองค์เจ้าประวิช" ดูจากภาพที่อยู่ในศาล คาดว่าน่าจะหมายถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี แต่เอมก็ไม่เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรนะคะ พื้นที่บริเวณต้นเลียบนี้หลายคนเชื่อว่าเดิมจารึกด้านบนตั้งอยู่บริเวณนี้ค่ะ



อีกอย่างที่เอมเห็นว่ามาเกาะสีชังแล้วชอบเป็นที่สุดคือ บ้านเรือน อาคารเก่าๆ ค่ะ เป็นโรคที่ชอบเล็งบ้านแบบเก่าๆ ดูประตู หน้าต่าง หลังคา ดูแล้วมีความสุข ที่สีชังนี่เห็นหลายหลังเลยค่ะ ใครที่ชอบเล็งบ้านเก่าๆ แบบเอม มาเห็นแล้วน่าจะชอบ ^^




อันนี้อยู่ติด ที่เอมพัก มีประกาศขายด้วย...ถ้ามีตังค์นะ >< ซื้อแน่ๆ

ส่วนหลังนี้ อยู่ตรงข้าม สวยมากจริงๆ บอกพี่เจ้าของที่พักว่า ถ้าเจ้าของเค้าจะขายบอกเอมด้วยนะ ... ไม่มีปัญญาซื้อหรอกค่ะ หนูแค่อยากรู้เฉยๆ 55555

หมดแล้วค่ะ สถานที่ที่เอมได้ไปเยี่ยมชมมาในเวลา 2 วัน 1 คืน ... อาจจะดูค่อนข้างน้อย บางท่านมาเที่ยววันเดียวอาจจะได้ไปสถานที่เยอะกว่าเอม ... เอมเป็นคนเที่ยวแต่ละที่ใช้เวลานานค่ะ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ทำพ่อแม่พี่น้องเบื่อกันไปหลายรายแล้ว ว่าไปกับเอมนี่ ต้องใช้เวลาจริงๆ ไม่นับว่า ต้องมีเวลานอนเอกเขนกอยู่ที่พักด้วยนะคะ หุหุหุ

เป็นโพสต์ที่รู้สึกว่าเขียนยาวมากจริงๆ เอาไว้คราวหน้าเอมไปเที่ยวไหน จะเอามาบอกเล่ากันอีกค่ะ

ลากันไปด้วย ประกาศที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ที่เกาะสีชัง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2434 (ร.ศ.110) ดังรูปที่แสดงไว้ในพระจุฑาธุชราชฐาน ดังนี้


"...ขอทรงตักเตือนไว้ให้ราษฎรทั้งปวงซึ่งอยู่ในเกาะนี้ จงมีความอุตสาหะ ประกอบการทำมาหากิน อย่าได้เกียจคร้าน อย่าประพฤติตัวให้ตกไปในทางเป็นพาล ประกอบการทุจริต จะนำความผิดแลทุกข์โทษภัยให้มาหา ถ้าผู้ใดหมั่นประพฤติการสุจริต ประกอบการทำมาหากินมิได้เกียจคร้าน ขอให้ผู้นั้นมีความเจริญ สุขสิริสวัสดิ์ พิพัฒน์มงคลทุกเมื่อ..."


ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาชมค่ะ ^^