วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไปรษณีย์กลาง บางรัก และ TCDC จุดเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์ และงานดีไซน์

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้มีโอกาสไปเยือน TCDC (Thailand Creative & Design Center)หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ที่ได้ย้ายบ้านจากศูนย์การค้ากลางเมืองมาตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก อาคารที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 - เริ่มสร้างในพ.ศ. 2478 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2481 โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นสถาปนิก นายหมิว อภัยวงศ์ เป็นผู้ช่วยสถาปนิก และนายเอ็ช เฮอร์มัน เป็นวิศวกร สำหรับประติมากรผู้ออกแบบปูนปั้นประดับอาคาร คือ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 



ตัวอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เป็นอาคารที่มีการใช้งานมาแล้วกว่า 80 ปี ก่อนหน้านี้ได้มีการปิดเพื่อบูรณะ ในส่วนของโถงกลางเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดงาน-นิทรรศการ และย้ายในส่วนของที่ทำการไปรษณีย์ไปไว้ที่ปีกด้านหนึ่ง รวมถึงบูรณะในส่วนของห้องชั้น 2-3 ใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารที่ปรับปรุงใหม่ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2556 หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งหนึ่งคือการที่ TCDC ได้มาเช่าพื้นที่บางส่วนของอาคารไปรษณีย์กลางบางรักเพื่อเป็นที่ทำการของ TCDC ใครสนใจเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบการใช้พื้นที่ของ TCDC ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก สามารถอ่านได้ที่นี่ค่ะ 







แต่วันนี้ที่จะชวนมาชมกัน จะเป็น 2 นิทรรศการที่สามารถเข้าชมได้ในช่วงนี้ และไม่อยากให้พลาดกัน โดยนิทรรศการแรก จะอยู่บริเวณโถงชั้น 1 ของอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก 

นิทรรศการ "แสตมป์ของพ่อ ๒๔๙๓ เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม"
สถานที่ : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก 
ช่วงเวลาเข้าชม : 22 มิถุนายน - 31 ตุลาคม 2560 
ระยะเวลา : วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดทำการวันจันทร์) เวลา 9.00 - 19.00 น.
ไม่เสียค่าเข้าชม 


*** แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติม ขยายเวลาเข้าชมถึงสิ้นเดือนธันวาคม ***



นิทรรศการแสตมป์ของพ่อ เป็นนิทรรศการที่รวบรวมเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บอกเล่าผ่านแสตมป์ ตลอดช่วงระยะเวลา 70 แห่งการครองราชย์ การเข้าชมจะมีเป็นรอบๆ โดยมีทางเจ้าหน้าที่นำชม และเปิดวิดีทัศน์ ถ้าเวลานอกเหนือจากรอบการเข้าชม สามารถเดินเข้าชมได้เช่นเดียวกันค่ะ โดยผู้ที่สนใจเข้าชมจะต้องลงชื่อที่ด้านหน้าที่นิทรรศการเพื่อรับของที่ระลึกเป็นโปสการ์ดและบัตรภาพผนึกตราไปรษณียากรรัชกาลที่ 9 เป็นที่ระลึก ภายในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 5 โซนดังนี้

โซนที่ 1 - ๒๔๙๓ ปฐมบทแห่งความสุขของคนไทย
เริ่มเรื่องราวด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 





โซนที่ 2 - ๒ พระองค์ คู่พระบารมี
เป็นเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถตั้งแต่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 





โซนที่ 3 - ๔ ภาค เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร
เป็นเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเพียงใด 




โซนที่ 4 - ๙ ทำ เพื่อพสกนิกร
โครงการในพระราชดำริเฉพาะโครงการสำคัญ 9 โครงการ ที่ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มีการนำเสนอด้วยภาพเคลื่อนไหว อยากบอกว่า จากที่น้ำตาปริ่มๆ มาหลายห้อง มาห้องนี้ น้ำตานองกันไป... 






มาถึงโซนสุดท้ายกันแล้ว 
โซนที่ 5 - ๓ คำสอน ศาสตร์พระราชา
บทสรุปของนิทรรศการกับ 3 คำสอนของพระองค์ หลักการทำงานที่ทุกคนสามารถที่จะน้อมนำเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต สานต่อพระราชปณิธาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ให้พวกเราได้เดินตามรอยเท้าพ่อต่อไปในอนาคต







ในฐานะนักสะสมแสตมป์คนหนึ่ง นิทรรศการนี้ เป็นนิทรรศการที่มีคุณค่ามากค่ะ เราได้สัมผัสถึงคุณค่าของแสตมป์ในฐานะของสื่อที่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์หน้าต่างๆ ของประเทศได้อย่างชัดเจนและทรงคุณค่า 
สำหรับผู้ที่ชมนิทรรศการแล้ว จะได้รับของที่ระลึก 2 อย่างค่ะ คือโปสการ์ดและบัตรภาพผนึกตราไปรษณียากรรัชกาลที่ 9 โดยบัตรภาพคิดว่าหลายๆ ท่านคงมีครอบครองกันบ้างแล้วจากที่ทางไปรษณีย์ได้เปิดให้มีการลงชื่อก่อนหน้านี้ แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ราคาแสตมป์ที่ผนึกบนบัตรภาพค่ะ ส่วนโปสการ์ดนั้นจะมีหลายแบบและจะแจกแบบแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา อันนี้เป็นแบบหนึ่งที่ได้มาค่ะ




สำหรับนิทรรศการที่ 2 จะอยู่ในส่วนของ TCDC ค่ะ

นิทรรศการ "ศาสตราสถาปัตย์ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ"
สถานที่ : ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลังของอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก (สามารถเดินเชื่อมจากนิทรรศการของแสตมป์ของพ่อไปได้ตรงประตูที่เปิดไปห้องน้ำ)
ช่วงเวลาเข้าชม : 11 ตุลาคม 2560 - 7 มกราคม 2561
ระยะเวลา : วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดทำการวันจันทร์) เวลา 10.30 - 21.00 น.
ไม่เสียค่าเข้าชม 

งานนิทรรศการนี้จะแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการออกแบบพระเมรุมาศ พื้นฐานในการออกแบบ ประเพณี คติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ขั้นตอนการออกแบบ การผลิตชิ้นงาน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ 



เข้ามาถึง นิทรรศการจะแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อในเรื่องของจักรวาลที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบ โดยมีเขาพระสุเมรุที่ถือเป็นแกนกลางของจักรวานตามคติไตรภูมิ โดยได้ยกตัวอย่างของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่วางผังตามคติของจักรวาล 




จากนั้น ก็จะเข้าสู่ส่วนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเมรุมาศ โดยจะมีภาพแสดงให้เห็นพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 8 และการออกแบบพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 
ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อย ที่ไม่มีพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 7 เนื่องจาก ภายหลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติ ก็เสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี 2484 (หลังจากสละราชสมบัติ 6 ปี) โดยได้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นจึงได้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระองค์กลับประเทศไทยในปี 2491 และอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวังในปี 2492












ส่วนอีกด้านจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโรงขยายแบบเพื่อการประกอบสร้างพระเมรุมาศ




ส่วนท้ายของนิทรรศการจะมีเรื่องราว จากครูสู่ครู และมีมุมเล็กๆ ที่เป็นเวิร์คชอปเกี่ยวกับลายไทย 






สำหรับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการ ทาง TCDC จะมีโปสการ์ดที่ระลึกมอบให้ โดยแต่ละคนจะได้แบบไม่เหมือนกันคละกันไป ด้านหลังจะมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชค่ะ







ถ้ามีเวลาก็อยากให้หาโอกาสไปชมกันนะคะ

เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยสำหรับการใช้บริการในส่วนอื่นๆ ของ TCDC จะต้องเป็นสมาชิก หรือเสียค่าบริการเพื่อเข้าใช้ อยากบอกว่าใครที่ทำงานด้านการออกแบบ ที่นี่เป็นขุมทรัพย์มากๆ ค่ะ หนังสือดีๆ เยอะมาก และทาง TCDC จะมีเวิร์คชอปด้านต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจเป็นระยะ ใครที่สนใจก็สามารถที่จะคลิกเข้าไปดูได้ที่เวปไซต์ของ TCDC ค่ะ
เอมขอเอาภาพบางส่วนมาโชว์ให้ดูนะคะ







การเดินทางมายังอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก และ TCDC สะดวกสุดคงเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลค่ะ  หรืออาจจะมาโดยทาง BTS ลงสถานีสะพานตากสิน แล้วเดินมาขึ้นรถเมล์ตรงฝั่งโรบินสันบางรักสาย 1 และ 75 ถ้าเดินน่าจะใช้เวลาประมาณ 15 - 30 นาที ถ้ามาจากทาง MRT จะค่อนข้างไกลกว่าค่ะ
นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางเรือได้โดยขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาหรือขึ้นเรือข้ามฟากจากท่าเรือคลองสานมาลงที่ท่าเรือสี่พระยา เดินต่อมาอีกประมาณ 5-10 นาทีค่ะ


เอกสารอ้างอิง (ข้อมูลในส่วนอาคาร)
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ - https://www.thairath.co.th/content/93138
นิตยสาร aday - http://www.adaymagazine.com/articles/draft-13