วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

เส้นทางเทรค ABC 9 วัน กับการพบปะสังสรรค์กับเหล่าคนไทย ^^



หายหน้าหายตาจากการนำเสนอข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวไปเสียนาน >< มีข้อมูลรอให้อัพเพียบ แต่แบบว่า... คือ... เอ่อ... ความขี้เกียจมีเพียบกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แซงคิวเอาอันล่าสุดมาก่อนละกัน อันอื่นๆ ก็... รอๆ กันไปก่อนนะ

ทริปเทรค ABC 9 วันอันนี้ มีที่มาจาก...ไมล์สะสมที่จะหมดอายุ... แล้วก็คิดไม่ออกว่าจะไปไหนดี ดูรายชื่อประเทศประเทศ กับจำนวนไมล์ที่เอมพอจะมี ตัดโอนมาจากบัตรเครดิตอีกนิดหน่อย เลยได้ตั๋วเครื่องบินไปเนปาลมาไว้ในอ้อมกอดพร้อมๆ กับจ่ายเงินไปพันกว่าบาท ทั้งหมดนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เหลืออีกเวลาอีกประมาณครึ่งปี เหลือให้เตรียมตัว ตอนนั้นยังไม่มีแผนอะไรเลย มีแต่วันที่จะอยู่ในเนปาล 15 วัน เลยเริ่มต้นหาข้อมูลว่าเอมจะใช้เวลา 15 วันไปกับอะไรบ้าง.. ตอนแรกตั้งใจจะนั่งๆ นอนๆ กินๆ ในกาฐฯ อย่างเดียว อย่างดีก็อาจจะนั่งรถประจำทางไปใกล้ๆ ระหว่างหาข้อมูล เรื่องเกี่ยวกับการ trek ก็เริ่มเตะตาเอมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นคนชอบเดินมากกกกก เดินได้วันนึงติดต่อกันหลายชั่วโมง และติดต่อกันหลายๆ วัน คิดว่าการเทรคมันจะต้องเหมาะกับเราอย่างแน่นอน เริ่มประกาศออกสู่เพื่อนๆ ว่าเออ อยากไปเทรคนะ และแล้วเราก็ได้เหยื่อมาอีก 3 คน รวมแล้วทริปของเราเลยมีสมาชิกทั้งสิ้น 4 คน ชาย 2 หญิง 2 พร้อมกับเป้าหมายว่า เราจะไปเทรค 9 วัน

สาเหตุในการเทรค 9 วัน ก็เพราะ เพื่อนๆ มีวันลากันได้ค่อนข้างจำกัด (คือเจ้านายตามจิกมาก ลาติดต่อกันนานๆ ไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทะยอยลาทีละนิดละหน่อย) ที่ลามาสำหรับเพื่อนบางคนนี่เล่นเอาสั่นสะเทือนขาเก้าอี้ตัวเองไปพอสมควร เกรงว่ากลับไปจะมีใครมานั่งทำงานแทนไปแล้ว แผนเลยกลายเป็นเอมบินไปเที่ยวเนปาลก่อนคนเดียว แล้วเพื่อนๆ จะบินตามกันไป เรื่องของการเที่ยวคนเดียวในเนปาล เดี๋ยวจะเป็นส่วนเสริมไว้ด้านหลังตอนที่เล่าเรื่อง ABC เสร็จนะคับ

การเตรียมตัว

  • การเตรียมข้อมูล เส้นทาง
เรื่องนี้ เราอาศัยข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ของไทยใน pantip มีรีวิวไว้เยอะมากกกกกก ละเอียดบ้าง ไม่ละเอียดบ้าง ข้อมูลจากเวปต่างประเทศก็มีไม่น้อย ทำให้เราพอจะเห็นภาพได้ระดับหนึ่งว่าจะเจอกับอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มติดต่อ agent ส่งไปหลายๆ เจ้า ถามไถ่ เปรียบเทียบราคา เส้นทางการเดิน สาเหตุที่ติดต่อ agent ทั้งๆ ที่หลายคนแนะนำว่า ค่อยไปหาคนที่เป็นไกด์/porter ที่โน่นก็ได้ หรือเดินเองก็ทำได้ไม่ยาก แต่เอาให้สบายใจ และไม่ต้องมานั่งกังวลอะไรมากว่าจะมีที่หลับที่นอนไหม เลยจัดการติดต่อ agent ไป ครั้งนี้จ่ายไปในราคา 590 US ต่อคน สำหรับการเทรค 9 วัน ราคานี้ รวมไกด์ 1 คน porter 2 คน อาหารทุกมื้อตลอดการเทรค (ไม่รวมเครื่องดื่มที่เป็น soft drink และน้ำเปล่า แต่รวมชากาแฟนะฮัฟ) และที่พัก 8 คืนระหว่างเส้นทางเทรค ในที่นี้ ทาง agent จะเป็นคนจัดการเรื่อง Permit และ Tims Card ให้ นอกจากนี้ ยังฝากทาง agent ช่วยจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบินในประเทศไปกลับ Kathmandu-Pokhara ในราคา 220 US และช่วยจองที่พักในคืนแรกและคืนสุดท้ายที่ Pokhara ให้ด้วย (เช็คดูแล้ว agent จองได้ถูกกว่า booking และ agoda)

หน้าตาของ permit และ Tims card ใครที่ให้ agent ทำให้ trek เสร็จแล้วขอกลับมาได้นะคับ

ภายหลังจากการติดต่อ agent ทางโน้นจะส่งโปรแกรมมาให้เบื้องต้นว่าแต่ละวันจะเดินไปจุดไหนอย่างไรบ้าง... โปรแกรมที่ส่งมาให้ตอนแรก เป็นการเดินขึ้น 4 วัน และเดินลง 5 วันไปผ่านทาง Poonhill ตกลงกับทาง agent เรียบร้อย ก็โอนเงินไปมัดจำไว้ 250 US หลังจากนั้น agent จะทักเรากลับมาเป็นระยะ ว่าฟิตร่างกายหรือยัง 55555 เค้าย้ำมากเรื่องความพร้อมทางร่างกายและเรื่องของการทำประกันเดินทาง 
นี่คือโปรแกรมที่ทาง agent ส่งมาให้

Day 01, Apr 06:- Arrival International airport KTM and straight flight to pokhara, (25 mins)
Day 02, Apr 07:- Pokhara to Nayapul (1:30 mins) drive and trek to Ghandruk (4-5 hours)
Day 03, Apr 08:- Ghandruk - Chhomrong/Sinuwa (trek 5-6 hours)
Day 04, Apr 09:- Chhomrong - Deurali (trek 6-7 hours)
Day 05, Apr 10:- Deurali - Annapurna Base Camp (ABC) (trek 6-7 hours)
Day 06, Apr 11:- Annapurna Base Camp (ABC) - Bamboo (trek 6-7 hours)
Day 07, Apr 12:- Bamboo - Tadapani (trek 6-7 hours)
Day 08, Apr 13:- Tadapani - Ghorepani (trek 6 hours)
Day 09, Apr 14:- Early morning walk up to Poonhill enjoy the views, back to Ghorepani, then trek to Tikhedhunga.
Day 10, Apr 15:- Tikhedhunga to Nayapul (trek 4 hours) and one and half hour drive back to Pokhara.
(แต่โปรแกรมที่ใช้เดินจริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงจากนี้นะคับ)
  • การเตรียมข้าวของเครื่องใช้
ข้าวของส่วนใหญ่เตรียมกันจากเมืองไทย 
  1. หมวดเสื้อผ้า พวกเสื้อฮีทเทค เสื้อ Airism (ตอนเดินช่วงแรกๆ โปรดลืมฮีทเทคไปได้เลย เพราะถึงแม้อุณหภูมิจะต่ำกว่าบ้านเรา แต่การเดินตากแดดเป็นช่วงๆ นั้น...ให้อารมณ์ไม่แตกต่างจากการเดินในเมืองไทยเท่าไรเลย) หากไม่มีเสื้อ Airism เสื้อวิ่งตามงานต่างๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีเช่นเดียวกัน ตลอดทางเจอเสื้อวิ่งหลายงานมาก โดยเฉพาะงานเขาประทับช้าง และงานนอร์ทเฟซ กางเกงช่วงแรกๆ กางเกงบางๆ มีประโยชน์มากในระหว่างการเดิน แต่เมื่อเข้าที่พักและค่ำลง คุณจำเป็นต้องมีอะไรที่อบอุ่นเตรียมเอาไว้โดย และโดยเฉพาะ เมื่อขึ้นถึง ABC คนขี้หนาวทั้งหลาย โปรดเตรียมวัสดุยังชีพไปให้ครบๆ 
  2. ปลอกแขน ระหว่างช่วงที่เดินหลายช่วงที่แดดแรงมาก ใครที่กังวลเรื่องการเผาไหม้หรือการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ควรมี หรืออาจจะใช้เป็น jacket แบบบางๆ (เพื่อนเอมใช้ jacket แบบ airism ของ Uniqlo ก็เวิร์คอยู่) สำหรับใช้เพื่อการบังแดด 
  3. แจ็คเก็ต ควรจะเป็นแบบ 2 ชั้น ที่ชั้นด้านในให้ความอบอุ่น และชั้นด้านนอกเป็นแบบกันลม กันฝน ช่วงเมษาที่ไปเดิน เย็นๆ ฝนตก เจอลูกเห็บตกเม็ดใหญ่ๆ ด้วยนะคับ
  4. กางเกงในกระดาษ เอมว่าโอเคอยู่นะ ไม่ต้องกังวลกับการซักและตากกางเกงในอยู่ เพราะบางที่พัก สภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวย นอนรวมกันกับชายหนุ่มก็หลายคืน จะมาซักชั้นในตากในห้อง ก็แอบเขินอายเล็กน้อย เอมซื้อที่ watson กับ boots มีไม่ทุกสาขา เลือกสาขาใหญ่ๆ หน่อยแล้วกันคับ
  5. ถุงมือ จะได้ใช้จริงๆ ก็วันที่ขึ้น ABC แล้วแหละ... เพราะ มัน หนาว มาก ><
  6. ผ้าบัฟ อันนี้รู้สึกว่าจำเป็นตั้งแต่อยู่ในกาฐฯ... เพราะมันช่วยชีวิตเอมจากฝุ่นในกาฐฯ ได้เป็นอย่างดี ระหว่างเดินเทรคก็เช่นกัน บางช่วงก็มีฝุ่นไม่น้อย ผ้าบัฟจะช่วยกันฝุ่น กันแดด กันลมหนาวมาปะทะคอ... สารพัดประโยชน์มาก
  7. ไม้เทรคอันนี้เอมมีของเอมอยู่แล้วคู่นึง ก็พกไป และของเพื่อนอีก 3 คน ไปซื้อเอาที่กาฐฯ (คือให้เอมไปซื้อให้) พกไปเถิด มันช่วยชีวิตคุณได้จริงๆ โดยเฉพาะเวลาเดินลงๆๆๆๆๆๆ คุณจะระลึกในพระคุณของไม้เทรคเลยทีเดียว
  8. รองเท้าเทรค แนะนำว่า เลือกที่ดีๆ ไปเถิด... ท่านจะมีความมั่นใจขึ้นเยอะกับการเดิน ดูความกว้างของรองเท้า สัมผัสเวลาเดิน พื้น และน้ำหนัก งานนี้ไปกัน 4 คน 4 ยี่ห้อ มีของ Columbia, keen, merrell และ Ahnu เปรียบเทียบกันลำบาก ซื้อมาเสร็จแล้วให้ทดลองใส่ให้เคยชินด้วยนะคับ เอมใส่เดินเที่ยวทุกเสาร์อาทิตย์ ลองขึ้นลงบันไดดูให้คล่อง รองเท้าหุ้มข้อขึ้นมาอาจทำให้เราไม่เคยชินในตอนแรกและเสียหลักอยู่บ้าง
  9. ถุงเท้า เตรียมไปทั้งแบบบางและแบบหนา แนะนำว่า ถ้ารองเท้าหุ้มขึ้นมาถึงไหน ถุงเท้าควรสูงขึ้นมาเท่าๆ กัน ไม่งั้นรอบข้อเท้าจะโดนเสียดสีและเป็นแผลได้คับ ซึ่ง... เอมก็เป็นแผลไปเรียบร้อยยย
  10. หมวก หมวกกันแดดแบบคล้ายๆ หมวกตัดอ้อย ที่มีด้านข้างกันแดดได้ เวิร์คมาก ส่วนหมวกไหมพรม เหมาะสำหรับไว้ใช้เวลานอน และตอนขึ้นไป ABC
  11. แว่นกันแดด ตอนช่วงเดินผ่านหิมะ แว่นจะช่วยคุณได้มาก 
  12. เป้ดีๆ แยกเป็น 2 ส่วนระหว่างเป้หลัก กับเป้เดย์แพค เอมไม่คิดจะไปใช้กระเป๋าของ agent (กลัวต้องเสียเงินเพิ่ม) เลยเตรียมเป้ไปเองเป็นของ osprey แบบมีใบใหญ่ กับเป้เดย์แพคแยกออกมาได้ ควรคำนวณน้ำหนักสิ่งที่จะแบกเอง และจะให้ลูกหาบแบกให้ ปกติลูกหาบหนึ่งคนไม่ควรแบกของรวมแล้วน้ำหนักเกิน 20-25 กิโล คน 2 คน แชร์ลูกหาบ 1 คน ดังนั้น ของในเป้ใหญ่เราน้ำหนักควรจะอยู่ประมาณ 10 กิโล น้อยกว่านี้ได้ แต่อย่าเกิน ส่วนน้ำหนักเป้เล็ก ของเอมอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโล เพราะกล้อง และขาตั้งกล้องเราแบกเอก มีน้ำดื่ม และขนมนิดหน่อย 
  13. ถุงนอน ส่วนตัวคิดว่าควรเตรียมไป เพื่อความสะอาด สุขอนามัย และความสบายใจ แต่มันก็จะกินพื้นที่ในกระเป๋ามากขึ้นพอสมควร ถ้าใครขี้เกียจเตรียมไปสามารถไปหาซื้อ หรือเช่าเอาที่เนปาลได้คับ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร 
  14. ไฟฉาย เอาแบบที่ไฟแรงๆ ไปหน่อย เพราะที่พักหลายที่ที่ไฟมาเป็นระยะๆ และการไปเข้าห้องน้ำอาจจะไม่มีไฟ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องใช้ในการเดินขึ้น Poonhill ยามเช้า หรือหากพักที่ MBC แล้วต้องเดินขึ้น ABC ยามเช้าเหมือนกลุ่มเรา
  15. ครีมกันแดด เอมใช้ anessa สีทอง ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เวลาทาอย่าทาแต่หน้า ทาเผื่อมามือแขนอะไรด้วยนะคับ เอมลืมทามือไป 2 วัน... กลับมา มือดำมาก อย่างเห็นได้ชัดเจน 55555
  16. ยา... อันนี้สำคัญและจำเป็น ยาที่เราใช้ประจำและยาสำหรับรักษาโรคที่คาดว่าจะเป็น ยากิน ยาทา ยาอม ยาดม เตรียมๆ ไปเหอะ ระหว่างทาง เอมควักยาดมให้สาวชาวญี่ปุ่นที่ดูเหนื่อยมาดมไป... เธอประทับใจมาก 
  17. ขนม ชอคโกแลต ถ้าคิดว่าไม่เป็นภาระมาก เอาขึ้นไปก็โอนะ อย่าง M&M นี่.. เป็นอะไรที่กินง่าย แจกลูกหาบกับไกด์ให้กินกันตอนเหนื่อยๆ ก็สร้างมิตรภาพได้ดี 
  18. เครื่องปรุงรสต่างๆ สำหรับเอม แทบไม่ต้องปรุงรสใดๆ อาหารเนปาลเอมรับได้... 55555 เพราะกินจืดจนชิน แต่สำหรับคนที่กินก๋วยเตี๋ยวบ้านเราแล้วยังต้องปรุง คุณพกไปเลยค่ะ น้ำพริกแห้งๆ ผงรสลาบ หรืออะไรที่จะทำให้คุณเจริญอาหารขึ้นมาได้ แต่หลังจากเลยหมู่บ้าน Sinuwa ไป เค้าจะห้ามพวกหมู ไก่ สัตว์ใหญ่ๆ ทั้งหลายแหล่ ดังนั้นถ้าใครพกหมูหยอง ไก่หยอง ก็รีบกำจัดก่อนที่จะขึ้นสูงไปกว่านั้นนะคับ
มีบางส่วนที่เอมเองวางแผนไปซื้อที่กาฐฯ คือเสื้อหนาว 2 ชั้นของเอมเอง (ได้มาในราคา 1800 รูปี) ถุงมือ (ได้มาในราคา 450 รูปี) ไม้เทรคของเพื่อนๆ (ได้มาในราคา 1800 รูปี) ราคานี้... ขึ้นอยู่กับทักษะในการต่อรองของแต่ละคนเลยคับ เอมต่อไม่ค่อยเก่งเอาราคาที่เราคิดว่าเราพอใจ และรับได้ นั่นคือโอเคแล้ว 

  • การเตรียมอื่นๆ
ประกันเดินทาง เป็นสิ่งที่คุณควรทำไป เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ... ส่วนทำกับเจ้าไหนดีนั้น อันนี้ตอบยาก เพราะไม่เคยเคลม -___-""" กลับมาปลอดภัยดีทุกครั้ง 55555
การแลกเงิน แลกเงิน USD เท่าที่คิดว่าเราจะได้ใช้ อัตราแลกเปลี่ยนที่สนามบินจะมี commission ที่ทาเมลไม่มี commission และเรทดีกว่าที่โพครา เวลาคิดเงินส่วนใหญ่จะคิดง่ายๆ เช่น 1800 รูปีถ้าไม่มีรูปีจ่ายเป็นเงินดอล เค้าก็จะคิด 18 ดอล ถ้าคิดเป็นเงินไทย ก็เอาเงินรูปีหาร 3 ก็จะได้เป็นเงินไทยคร่าวๆ ออกมา 
แบงค์ของเนปาล ด้านหนึ่งเป็นสัตว์ ด้านนึงเป็นภูเขา ... หาแบงค์ใหม่ๆ ได้ยากมาก

เตรียมพร้อมก้นแล้วมั้ยยยยยย ไป เราไป ABC กัน


วันที่ 1 กาฐมาณฑุ - โพครา 
วันนี้เอมนั่งรถไปเจอเพื่อนๆ พร้อมหอบไม้เทรค 3 คู่ไปให้ที่สนามบินฝั่ง inter แล้วค่อยยกโขยงกันเดินไปฝั่ง domestic ระหว่าง inter กับ domestic ใช้เวลาเดินฝ่าลานจอดรถไปประมาณไม่เกิน 20 นาที เช็คอินกับสายการบินที่คุณได้จองไว้ ในที่นี้ เราเดินทางกับ Yeti airline เวลาที่บอกเราตอนแรกคือ 15.00 น. เวลาที่เราได้ขึ้นบินจริงๆ ก็ใกล้ๆ จะ 5 โมงเย็น ระหว่างที่นั่งรอ (กรณีคุณโชคดีได้ที่นั่ง) สิ่งที่ควรทำคือ ห้ามหลับ เพราะ... คุณอาจจะพลาดเที่ยวบินที่ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ ก็ได้ ถ้าฟังไม่ค่อยออก หมั่นเข้าไปถามไม่มีใครถีบคุณออกมาแน่นอน

Yeti airlines.... You come first... Plane comes later ประโยคหลังนี่เราเติมให้เอง คือมาถึงก่อนก็นั่งรอเครื่องบินกันไปจ้า แก้ไขเวลาบินกันด้วย ppt กันเรื่อยๆ ลบพิมพ์ใหม่กันหลายรอบ

เครื่องบินลำน้อยๆ คิดถึง pb air ที่เคยนั่งไปแม่ฮ่องสอน ด้านซ้ายมี 1 แถว ด้านขวามี 2 แถว ขึ้นเครื่องไม่นาน แอร์ก็เดินมาแจกสำลี และลูกอม จากนั้นก็ตามด้วยถั่ว 1 ถุง และน้ำ ^^ นั่งเพลินๆ ตกหลุมอากาศเป็นระยะมาสักครึ่ง ชม. ก็ถึง โพครา 

มาถึงโพคราเป็นที่เรียบร้อย

ใครยังไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มาหาที่ โพคราได้เลย ร้านเยอะมาก ที่โพคราเจอกลุ่มคนไทยให้ข้อมูลว่า ปีนี้ต้องเดินผ่านน้ำแข็งเป็นระยะทางยาว ปกติช่วงนี้ของปีน้ำแข็งจะละลายไปพอสมควรแล้ว ให้ดีให้ซื้ออุปกรณ์มาสวมรองเท้าที่เรียกว่า Crampon มาไว้สวมทับรองเท้าช่วงที่เดินผ่านน้ำแข็งก็จะช่วยให้มั่นใจขึ้น ก็ลองเดินหาซื้อดูได้มา 3 คู่ 3500 รูปี

หน้าตารองเท้าตอนใส่ crampon เรียบร้อย

อ้อ วันนี้ไกด์มีมาคุยเรื่องของการขอเปลี่ยนเส้นทางเดิน โดยจะเปลี่ยนเป็นเดินไปทาง Poonhill ก่อน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ฝนตกตอนบ่ายๆเย็นๆทุกวัน ถ้าเป็นตามแผนเดิม เราน่าจะเดินกันถึงเย็น ซึ่งจะเจอฝนอย่างแน่นอน เราก็โอเค ยังไงก็ได้ไม่มีปัญหา


วันที่ 2 โพครา - Nayapul - Sudame - Hille - Tikhedhungga - Ulleri
การแต่งกายสำหรับการเดิน - เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นก็ได้ ไม่มีปัญหา อากาศร้อนๆ อาจมีเสื้อคลุมไว้กันแดดบ้าง และมีเสื้อฝนพกติดไว้

นัดรถ agent ตอนเช้าที่โรงแรม นั่งเขย่าไปตามทางถนนของเนปาล สักประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงที่ Nayapul ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางไกด์จะต้องเคลียร์เรื่องเอกสารต่างๆ ให้เรา ลูกหาบจะเอาเชือกมามัดกระเป๋า 2 ใบไว้ด้วยกัน (1 คนแบก 2 ใบ) เส้นทางเดินช่วงแรกๆ เดินไม่ยากมาก เป็นเส้นทางที่รถสามารถวิ่งได้จนถึงประมาณ Hille หลังจากนั้นก็จะเป็นทางคนเดินเป็นหลัก


จุดเช็ค Tims card 
จุดเช็ค Permit



ยินดีต้อนร้บเข้าสู่ Annapurna conservation area

เส้นทางเดินในช่วงแรก

เราแวะทานข้าวกันที่ Sudame ในราคาที่จ่ายให้ agent จะได้อาหารหลักคนละ 1 จาน แล้วก็เครื่องดื่มที่เป็นชากาแฟ แต่ถ้าอยากกินพวกน้ำอัดลม หรือซื้อน้ำเปล่าใส่ขวดไว้ อันนั้นจะต้องเพิ่มตังค์เอง 
ถ่ายๆ รูปของกินมาไว้บ้าง แต่ถ้าสั่งซ้ำๆ กันก็จะถ่ายไว้จานเดียว รสชาติบางอย่างจะค่อยๆ จืดจางลง ตามความสูงที่เพิ่มขึ้น 55555


อ้ออออ อีกอย่างก็คือ... สั่งอาหารในเนปาล โดยเฉพาะตลอดเส้นทางเทรค ท่านควรทำใจร่มๆ ไม่รีบหิว ถ้าหิวมากสั่งเสร็จแล้วควรนั่งนิ่งๆ หรือนอนรอเพื่อสงวนพลังงานไว้ ค่าเฉลี่ยในการรอตลอดทั้งทริป อยู่ที่ประมาณ 45 นาทีขึ้นไป...

เส้นทางเดินช่วงหลังๆ

เส้นทางช่วงที่หลายคนจะจดจำ (ด้วยความประทับใจ รันทดใจ สะเทือนใจ หรืออะไรก็แล้วแต่) คงเป็นช่วงทางขึ้น Ulleri ที่หลายคนบอกว่าเป็น endless stairs คือ...
เมื่อ... 
ไร... 
มัน... 
จะ... 
ถึง... 
สัก... 
ที... 
ฟร่ะ....
แฮ่กๆๆๆๆ 
เดินๆ ไปเจอพายุฝน ลูกเห็บกระหน่ำอีก... T^T ให้ความรู้สึกเหมือนเผชิญบททดสอบมากๆ 

ระหว่างทางจะเจอกุหลาบพันปีเยอะมาก ไกด์เรียกว่า Rhododendron ออกดอกสวยเลย วันแรกๆ จะเจอสีแดงสด วันหลังๆ มีเจอสีชมพูด้วย บางทีขึ้นข้างๆ กัน สวย ดี 


หมู่บ้านในการแวะพักรายทางนั้น... เท่าที่ดูหลายๆ หมู่บ้าน เหมือนตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับรับนักท่องเที่ยวที่มาเทรค ไม่ได้ดูเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม โรงแรมที่เราพักคืนนี้ ยังไม่ต้องจ่ายค่าน้ำร้อน ชาร์ตแบต ส่วนไวไฟ ไกด์ลองแล้วบอกว่าไม่วิ่ง เลยไม่ได้ใช้กัน

ข้าวเย็น และข้าวเช้า เรากินกันที่โรงแรมที่พัก เข้าโรงแรมปุ๊บ แนะนำให้สั่งไว้เลย พร้อมระบุเวลาที่จะกิน จากนั้นก็ไปอาบน้ำอาบท่า ซักผ้าจัดของ ฯลฯ เดินเล่น ได้เวลาค่อยมานั่งรับประทานให้สบายใจ ^^ กลางคืนอากาศเย็นๆ ทำตัวทำเท้าให้อบอุ่นกันด้วยนะคะ


สรุปวันแรก จาก Nayapul เดินมาที่ Ulleri ระยะทางประมาณ 10.07 กิโลเมตร ระยะแนวดิ่งที่ขึ้นมาประมาณ 979 เมตร (GPS สัญญาณหายไป 2 ช่วงตัวเลขเลยแอบงงๆ นิดนึง) 
นอนที่ระดับความสูง 2020 เมตร (ความสูงอ้างอิงจากแผนที่)





วันที่ 3 Ulleri - Nanggethanti - Ghorepani
การแต่งกายสำหรับการเดิน - ประมาณวันแรกเลย สบายๆ ยังไม่ต้องกันหนาว 
ส่วนใหญ่เวลาออกเดินของเราในทริปนี้จะเป็น 7.30 มีบางวันที่ เป็น 7.00 ก่อนนอนก็จะสั่งข้าวเช้าไว้เลยว่าจะกินอะไร และเวลาไหน ข้อควรระวัง ถ้าสั่ง bread เราจะได้สิ่งที่หน้าตาและรสชาติคล้ายๆ กับซาลาเปาทอดบ้านเรา แต่ถ้าสั่ง Toast จะได้ขนมปังปอนด์แบบปกติ



เส้นทางเดินวันนี้ก็จะเป็นทางเดินขึ้นๆ แต่ไม่ได้เป็นบันไดชันๆ เหมือนเมื่อวานแล้ว ผ่านจุดที่วิวสวยๆ สดชื่น เขียวๆ เยอะอยู่เหมือนกัน

ทางเดินช่วงออกจาก Ulleri แรกๆ




แวะกินข้าวเที่ยงกันที่ Nanggethanti ก็... รอ... นาน... เหมือนเดิม ถ่ายรูปหมา แมว แพะ แกะ เต่าทอง กันให้พอคุ้นๆ หน้า ก็จะได้กินกัน


หมาที่นี่เป็นไรไม่รู้ เห็นกี่ตัวๆ ก็นอน

แมว... ก็นอน



และแล้ว ข้าวก็มา


ทานข้าวเสร็จก็ออกเดินกันต่อ ทางเดินช่วงหลังๆ จะเป็นประมาณนี้


เดินกันอีกนิดเดียวก็ถึงหมู่บ้าน Ghorepani เห็นป้ายหมู่บ้านด้านล่างอย่าเพิ่งดีใจ เพราะเราต้องเดินขึ้นไปหมู่บ้านด้านบน ที่หมู่บ้านด้านล่างจะมี check post อยู่ ก็ให้ไกด์เข้าไปจัดการ จากนั้นเราก็เดินขึ้นไปที่โรงแรม คืนนี้โรงแรมที่พักชื่อ Super view วิวสวยจริงๆ แต่เดินขึ้นไปสูงอยู่ ที่ Ghorepani เป็นหมู่บ้านใหญ่พอสมควร มีร้านขายของ ส่ง postcard ได้ ส่งกลับไทยในราคา รวมแสตมป์แล้วอยู่ที่ 60 รูปี


ผ่าน check post ส่งไกด์เราไปรายงานตัว

ใน Ghorepani

มาส่ง postcard กลับบ้านกันเถอะ ^^

วิวภูเขาจากที่มองเห็นจากด้านหน้าโรงแรม

 ที่นี่ยังสามารถอาบน้ำร้อนได้ ฟรี ชาร์ตแบตได้ฟรี ไวไฟอุปกรณ์ละ 100 รูปี เค้าบอกว่าถ้าต่อไม่ได้ก็ไม่ต้องจ่าย

อาหารเย็นวันนี้ ลองพิซซ่ากัน อยากแนะนำว่า พิซซ่่าเป็นสิ่งที่ควรสั่งอย่างหนึ่งเลย เพราะมันมีรสชาติมากกว่าข้าวผัดพอสมควรเลยทีเดียว


วันนี้เดินน้อย แค่ 8.28 กิโลเมตร ระยะทางใต่ขึ้นก็ประมาณ 792 เมตรกว่าๆ 
นอนที่ระดับความสูง 2860 เมตร



วันที่ 4 Ghorepani - Poonhill - Ghorepani - Ban Thanti - Liui Kharka - Tadapani
การแต่งกายสำหรับการเดิน - ช่วงเช้าที่ขึ้น Poonhill ใส่อุปกรณ์กันหนาวกันไปให้ครบๆ เพราะเดินขึ้นกันตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แต่พอลงมา ให้ใส่เสื้อผ้าสำหรับเดินสบายๆ กันแดดบ้างอะไรบ้างเพราะมีบางช่วงที่แดดแรงจริงๆ
วันนี้นัดกัน 4.15 เดินขึ้น Poonhill กัน ตอนเช้าที่ออกมา ดาวสวยมากกกก เห็นทางช้างเผือกด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายไว้ เดินขึ้นไปสักพักจะผ่านด่านเก็บเงิน ไกด์ไปจัดการให้ เราก็เดินขึ้นๆๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ ประมาณสักชั่วโมงขึ้นก็ไปถึงที่ยอด รอดูพระอาทิตย์ขึ้น พอเริ่มมีแสงกระทบโดนภูเขามันสวยมากจริงๆ ^^ บนนี้ เราเจอคนไทยมหาศาลมาก ประหนึ่งชาวไทยได้มายึดเนปาลไว้หมดแล้ว ><




  ถ่ายรูปกันจนสาแก่ใจ เราก็เดินลงมาผ่านจุดเก็บเงินเมื่อตอนเช้า



 มาถึงโรงแรมทานอาหารเช้าที่สั่งไว้ตั้งแต่เมื่อคืน เป็นชุด breakfast กับ bread แบบเนปาล ... กินแล้วคิดถึงซาลาเปาทอดบ้านเราจริงๆ ได้นมข้นสักหน่อย จะเลิศมาก ><


กินข้าวเสร็จออกเดินกันตอน 8.30  จะเป็นช่วงที่เดินลงๆๆๆ แล้วก็เดินขึ้นๆๆๆ ใหม่ ช่วงที่เดินขึ้นมา วิวภูเขาสวยมาก ถ่ายรูปกันหนุกหนานนนนน จากนั้นก็เป็นทางเดินลงๆๆๆๆๆๆ คือ มันจะลงไปไหนเนี่ย... ลงจนรู้สึกข้อเข่าจะเสื่อม ลงจนแอบใจเสียว่า ที่เราเดินขึ้นมาทั้งหมด หายไปหมดแล้วใช่ไหม T^T แต่ระหว่างทางเดินก็สวยดีนะ





แวะกินข้าวเที่ยงกันที่ Liui เติมพลังด้วยข้าวที่ช่วยรักษาสุขภาพไต แล้วก็ออกเดินกันต่อ

ระหว่างการเดิน ต้องคอยฝั่งเสียงกระดิ่งกันให้ดี เพราะเป็นสัญญาณว่าจะมีสัตว์ต่างๆ สวนทางมา ซึ่งเราควรจะเตรียมหาที่หยุดหลบให้เค้าสวนทางไปก่อน วันนี้เจอสวนกับฝูงแพะแกะ 300 กว่าตัว รอนานจนแทบยืนหลับ 55555


ประมาณสักบ่าย 3 ก็ถึง Tadapani คืนนี้ ได้ห้องนอนแบบ 4 คน ที่โรงแรมนี้ ต้องมีเสียค่าชาร์ตแบตแล้ว อุปกรณ์ละ 100 รูปี ไวไฟเหมือนจะ 100 รูปีนะ แต่เห็นว่าสัญญาณไม่ค่อยดี เลยไม่ใช้ ค่าอาบน้ำร้อน 150 รูปี
ถึงโรงแรมก็... เสต็ปเดิม สั่งข้าวไว้ก่อนแล้วค่อยไปทำธุระปะปังอื่นๆ แล้วค่อยมาลงมือกินข้าวเย็นกัน



วันนี้เดินไป 11.01 กิโลเมตร ถ้าคิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ ทั้งหมดรวมกันก็คิดเป็น 1591 เมตร 
นอนที่ระดับความสูง 2630 เมตร คืนนี้นอนที่ความสูงต่ำกว่าเมื่อวาน




วันที่ 5 Tadapani - Chuile - Ghurnung - Taulung - Chomrong
การแต่งกายสำหรับการเดิน - แนะนำชุดสบายๆ เช่นเดิม และเหมือนวันอื่นๆ คือหลังพระอาทิตย์ตกดิน อากาศหนาวคับ
วันนี้ตื่นกันตอนตี 4 ออกมาถ่ายรูปดาวกัน มองด้วยตาเปล่าสวยมาก แต่ถ่ายออกมาฝีมือไม่ถึง T^T ถ่ายรูปกันพักนึงขี้เกียจทนหนาว กลับเข้ามานอน รอเช้าจะได้กินข้าว ><





มื้อเช้าวันนี้ ><
ลืมบอกไปว่า ถ้าสั่ง spring roll จะได้สิ่งที่ค่อนข้างจะเหมือนกะหรี่ปั๊บอันใหญ่ๆ มานะ เหมือนในรูปขวาล่าง

ออกเดินทางกัน 7.30 และทางเดินก็มีแต่ ลงๆๆๆๆๆๆ T^T คือ รู้สึกสะเทือนใจมาก ที่เดินขึ้นมาเมื่อ 2-3 วันก่อนมันคืออัลไร ทางเดินลงช่วงนี้มีที่น่ากลัวหลายช่วงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะสำหรับเอมที่เป็นโรคกลัวความสูงมาก (แต่อยากมาเดินเทรค... 5555) เดินลงไปจนถึงจุดที่ข้ามแม่น้ำ... จากนั้นเราก็เดินขึ้นกันต่อ ฮึบๆๆๆๆๆ แวะทานข้าวเที่ยงกัน (จำไม่ได้แล้วว่าที่หมู่บ้านไหน) แล้วก็ไปกันต่อ เส้นทางวันนี้ชันไม่มาก แต่มีจุดที่น่ากลัวหลายจุดสำหรับเอม เดินช้าเป็นเต่าเลย 




เดินลงไปเรื่อยๆ จนถึงแม่น้ำด้านล่างนั่นแหละครับ T^T



 แวะทานข้าวเที่ยง แล้วค่อยออกเดินกันต่อ




 ทางเดินต่อในช่วงบ่าย



แต่เส้นทางที่เดินผ่านวันนี้ได้เห็นนกอินทรีด้วย บินไปมาสวยมาก แล้วพอเดินมาสักพักก็เห็นน่าจะเป็นกลุ่มแร้งลงกินซากอะไรอยู่ไกลๆ มีสัก 30 กว่าตัวได้มั้ง 




วิวระหว่างทางวันนี้

Chomrong เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่พักเยอะ ที่ให้ความรู้สึกของหมู่บ้านในยุโรปมากกกกกก มีร้านขายขนม ร้านกาแฟที่ขึ้นป้ายยี่ห้ออย่าง LAVAZZA หรือ ILLY แต่เราไม่ได้แวะกินเลยบอกไม่ได้ว่าโอไม่โออย่างไร

ลองซื้อบราวนี้ชอคโกแลตมากิน ... คือ ถ้าไม่ได้อยากกินมากๆ อยากกินสุดๆ ขาดของหวานแล้วจะไม่สบายอะไรแบบนี้ แนะนำว่า อดทนรอกลับมากินบ้านเราเถอะ หรืออย่างน้อยรอกลับไปโพคราก่อนก็ได้นะ ...


ที่พักที่ Chomrong วันนี้ ชื่อ Elysium คือชอบมากกก ที่พักเล็กๆ มีไม่กี่ห้อง ไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้กับใคร วิวสวยดีด้วย ค่าอาบน้ำร้อน 150 รูปี ค่าชาร์ตอุปกรณ์ละ 100 รูปี และค่าไวไฟ 100 รูปี

ทานข้าวกัน


อ้อ โรงแรมคืนแรกๆ จะยังพอมีผ้าห่มให้นะคับ แต่ตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป ต้องงัดถุงนอนออกมาใช้กันแล้ว ^^

วันนี้เดินไป 8.85 กิโลเมตร คิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ รวมกันทั้งหมด 1255 เมตร 
นอนที่ระดับความสูง 2170 เมตร คืนนี้นอนที่ระดับความสูงต่ำกว่าเมื่อวาน




วันที่ 6 Chomrong - Sinuwa - Bamboo - Dovan - Himalaya
การแต่งกายสำหรับการเดิน - แนะนำเสื้อแขนยาว เพื่อช่วยในการปกป้องแดด ช่วงเลยจาก bamboo ไปอากาศจะเย็นๆ ขึ้น มีเสื้อแจ็คเก็ตไว้อีกชั้นก็จะดี
ตื่นเช้าชมวิวจากหน้าที่พัก ทานข้าว และเตรียมตัวออกเดินทางจาก Chomrong ได้ยินเสียงเพลงสวดมนต์แบบจีนแว่วมาแต่เช้าจากที่พักข้างๆ





ออกจาก Chomrong จะมีจุดที่เป็น check post อยู่ ไกด์ก็เข้าไปจัดการ จากนั้นก็เป็นทางลงๆๆๆๆๆ เพื่อไปข้ามสะพานแขวนและจากนั้นก็จะไต่ขึ้นละจ้าาาา 


จุด check post ก่อนออกจาก Chomrong


ข้ามสะพานมามองย้อนกลับไปทางที่เราเดินลงมากัน... วันกลับเราต้องเดินย้อนเส้นทางนี้กันอีกครั้ง


ช่วงการไต่ขึ้นไป Sinuwa แนะนำว่า ควรใส่แขนยาว หรือมีปลอกแขน และพกน้ำไปให้เพียงพอ เพราะมีร่มเงาค่อนข้างน้อย เจอแดดร้อนระอุเข้าไปอาจสลบได้ง่ายๆ เข้าเขต Sinuwa จะมีป้ายเตือนไม่ให้นำเนื้อไก่ หมู เนื้อควาย อะไรเข้าไปในพื้นที่ (ในเมนูของโรงแรมหลังจากนี้ จะเน้นไปที่ไข่ แล้วก็มีทูน่า) เส้นทางหลังจากที่ผ่านตัวหมู่บ้าน Sinuwa ไปไม่ยากมาก ก็จะเป็นทางเดินลงๆๆๆๆๆ ก่อนจะไปขึ้นอีกครั้ง  


ป้ายเตือนเรื่องอาหาร

สภาพทางเดินก่อนถึง Sinuwa

ผ่านจาก Sinuwa มา หนทางยังอีกยาวไกล... เธอเห็นทางลงนั่นไหม ><
จากนั้นเราแวะกินข้าวกันที่ Bamboo ก่อนจะเดินขึ้นไปที่ Himalaya กันต่อ แต่ละหมู่บ้าน จะมีป้ายตรงทางเข้าหมู่บ้าน เอมว่ามันเป็นป้ายที่เป็นประโยชน์ใช้ได้เลย จะบอกว่าที่หมู่บ้านนี้อยู่ที่ระดับความสูงเท่าไร มีที่พักกี่ที่ ข้อห้าม (อันนี้มีห้ามเนื้อวัวด้วย แต่บอกว่าเนื้อแพะ กับแกะได้) หมู่บ้านถัดไป หมู่บ้านถัดไปมีที่พักกี่ที่ และใช้เวลาเดินไปประมาณเท่าไร







ป้ายบอกทางไป ABC... วางซะกลัวคนเห็นหรืออย่างไร

ช่วงนี้เอมเดินเร็วขึ้นมาทันกับลูกหาบ (หรือลูกหาบหยุดนานไป ไม่แน่ใจ 555) เห็นเค้ามีไหว้ที่ดูเป็นศาลเล็กๆ ระหว่างทาง เค้าบอกให้เราไหว้ด้วย ก็ไหว้แบบไทยๆ นี่แหละ แล้วก็เอื้อมมือเข้าไปสั่นกระดิ่ง จากนั้นก็เดินกันต่อ 




ช่วงจาก Dovan ไป Himalaya จะมีช่วงนึงที่ทางเหมือนมีทางแยกไป 2 เส้น ทางซ้ายจะดูเป็นทางบันไดขึ้นๆ ทางขวาดูเป็นทางราบๆ เล็กๆ สามารถไปถึง Himalaya ได้ทั้ง 2 ทาง ... แต่เราขอแนะนำให้ท่านเดินไปทางซ้ายที่ดูเหมือนขึ้นๆ ไปนั่นแหละ...มันเดินง่ายกว่ามาก... คือขาไปเชื่อลูกหาบ เดินไปทางขวา... แง๊... ไม่เหมาะกับคนกลัวความสูงและการลื่นไถลอย่างรุนแรง แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้กลัวอะไร ไปทางขวาก็ได้นะ สั้นกว่าเล็กน้อย




ถึง Himalaya อากาศหนาวขึ้นแบบสัมผัสได้ชัดเจน คืนนี้ก็นอนรวมกัน 4 คนอีกเช่นเคย 
ข้อควรระวังอีกอย่างคือ.. ใครที่มีภาวะค่อนข้างหลับยาก การเดินเทรคขึ้นที่สูงๆ แบบนี้บางคนอาจจะหลับยากมากขึ้น และยิ่งคนที่อ่อนไหวกับเสียงต่างๆ อาจไม่ได้หลับเอาเลยเวลาที่ต้องนอนรวมกันหลายๆ คน พกเอียปลั๊กไป ก็พอจะช่วยได้นะ 





ถ่ายเบลอมาก สงสัยจะหิวจัด 55555

วันนี้เดินไป 11.42 กิโลเมตร คิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ รวมกันทั้งหมด 1597 เมตร 
นอนที่ระดับความสูง 2920 เมตร


วันที่ 7 Himalaya - Deurali - Machhapuchchhre base camp (MBC)
การแต่งกายสำหรับการเดิน - เริ่มต้นการกันหนาวได้แล้วคับ และควรมีแจ๊คเก็ตสำหรับกันลมกันละอองน้ำอะไรไว้ด้านนอกด้วย วันนี้เราจะมีเดินผ่านหิมะ ช่วงยาวอยู่เหมือนกัน

ตื่นเช้ามาเติมพลังเช่นเดิม


เส้นทางวันนี้ ก็ยังเป็นการเดินขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนออกจาก Himalaya มา Deurali เส้นทางก็เดินได้เรื่อยๆ มีผ่านน้ำแข็งบ้างเป็นระยะ แต่พอเลย Deurali มาแล้ว จะเจอน้ำแข็งหลายจุด เดินยากมั่ง ง่ายมั่ง วันนี้เดินระยะทางสั้นๆ ก็มาถึงที่พักแล้ว ทานข้าวเที่ยงกันที่ MBC และพักที่นี่เลย

เส้นทางเดินของเราในวันนี้

ช่วงที่เดินผ่านน้ำแข็งช่วงแรกๆ เหอๆๆๆ เดินกันเกร็งไม่ใช่เล่น ที่เห็นสีน้ำตาลอ่อนๆ นั่นคือน้ำแข็งนะคับ



เส้นทางจาก Deurali ไป MBC สวยงามแปลกตาไปอีกแบบ


ในที่สุดก็มาถึง MBC เดินหาโรงแรมที่พักเรากันก่อน

หน้าโรงแรมที่พัก หากจะไปต่อยัง ABC ต้องเดินไปทางหิมะขาวๆ ที่อยู่ระหว่างภูเขานั่นขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงโรงแรมปุ๊บ สิ่งที่ทำอันดับแรกคือ... กินข้าวเที่ยง



เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของคนไทย เราเลยไม่สามารถหาที่พักบน ABC ได้ ไกด์เลยหาที่พักให้ที่ MBC แทน ช่วงบ่ายที่ว่าง ไกด์เลยชวนเดินเล่นขึ้นไป ABC  แต่ขึ้นไปได้สักครึ่งทาง เห็นสภาพอากาศแล้วตัดสินใจเดินลงกันดีกว่า เพราะขึ้นไปก็คงไม่เห็นอะไร ค่อยขึ้นไปพรุ่งนี้เช้าทีเดียว

เดินเล่นขึ้นมา มองย้อนกลับไป MBC



ที่พักที่ MBC เองก็เต็มเหมือนกัน หลายๆ คนต้องนอนกันในห้องทานข้าว บางคนต้องลงไปพักที่ Deurali แล้วเดินขึ้น ABC ตอนเช้าแทน ค่าอินเตอร์เน็ตที่นี่คิด 300 รูปี (ได้ข่าวว่าบน ABC 500 รูปี) มื้อเย็นทุกคนพร้อมใจกันสั่ง Egg Veg Noodle Soup ซึ่งหากสั่งแบบนี้เราจะได้สิ่งที่หน้าตาและรสชาติเหมือนมาม่าใส่ไข่มากิน (ก่อนหน้านี้ก็เคยสั่งกันไปหลายที่แล้ว) เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาคับ

ก่อนเข้านอน ท่านควรเตรียมอุปกรณ์รับความหนาวแบบเต็มพิกัด... เพราะในช่วงกลางคืนจะหนาวมาก

วันนี้เดินไป 7.4 กิโลเมตร คิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ รวมกันทั้งหมด 1354 เมตร
นอนที่ระดับความสูง 3700 เมตร




วันที่ 8 MBC - Annapurna base camp (ABC) - MBC - Deurali - Himalaya - Bamboo
การแต่งกายสำหรับการเดิน - การเดินขึ้น ABC แต่งตัวสำหรับการเตรียมรับอุณหภูมิที่ติดลบเล็กน้อย มีลมบ้าง แต่สำหรับการเดินลงไป Bamboo ให้เอาชั้นที่กันหนาวมากๆ ออก เพราะเดินลงไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มร้อนมากขึ้น

ตื่นเช้าออกเดินแบบหนาวๆ (อุณหภูมิ -7) จาก MBC ตั้งแต่ตี 4 ... crampon ที่ซื้อมาเป็นประโยชน์มาก เพราะน้ำแข็งในช่วงเช้าเดินยากกว่าเมื่อวานช่วงเย็นๆ พอสมควร วันนี้เราจะใต่ระดับขึ้นมาที่ความสูง 4130 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของทริปเราแล้ว ^^ ทางเดินจาก MBC ไป ABC ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินขึ้นประมาณชั่วโมงกว่าๆ เอมเองยืนรอพระอาทิตย์ขึ้นระหว่างทางก่อนถึง ABC สัก 3-4 ร้อยเมตร เพราะอยากเห็น Annapurna แบบชัดๆ พอสว่างพอสมควรแล้วก็ค่อยเดินต่อขึ้นไปบน ABC ซึ่งบน ABC เราก็รู้สึกว่า... ได้กลับเมืองไทย 55555 เพราะได้ยินแต่เสียงคนคุยกันภาษาไทย จริงๆ ระหว่างทางเดินมาโดยตลอด จะทักสวัสดีแทนนมัสเตก็ได้นะ... ขำว่า มีฝรั่งเดินสวนเรา แทนที่จะทักว่า นมัสเต กลับทักว่าสวัสดี เฉยเลย คงเดินสวนคนไทยมาไม่น้อย...

วิวเมื่อมองย้อนกลับไปตอนพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น

มองไปด้านหน้าไกลๆ จะเห็น ABC และ Annapurna south กระทบแสงแดดยามเช้า


มาถึงจนได้นะ ABC ^^

นั่งเล่นหนาวๆ กันสักพัก เราก็เดินลงกลับมากินข้าวที่ MBC สั่งเป็นข้าวไข่เจียวกันหมดเลย 5555 เหมือนนานไปสมองด้านการคิดเมนูอาหารเริ่มไม่สั่งการ ลอกเมนูเพื่อนปลอดภัยสุด คนแรกสั่งอะไรก็จะสั่งตามๆ กัน แต่ก็อร่อยดีนะ



จากนั้นเราก็ออกเดินจาก MBC ไกด์พาเราเดินข้ามแม่น้ำไปเดินอีกฝั่งช่วงหนึ่ง แล้วค่อยตัดมาตอนจะเข้าหมู่บ้าน Deurali ก็เดินง่ายกว่าทางเดิมพอสมควร จากนั้นก็ยังมีเดินลุยน้ำแข็งกันอีกเล็กน้อย ไปจนถึง Himalaya ก็ไม่ได้เจอน้ำแข็งกันแล้ว แวะทานข้าวกันที่ Himalaya ซึ่งก็สั่งข้าวผัดเหมือนกันหมดอีกแล้ว >< เลยไม่ได้ถ่ายมา แล้วก็ออกเดินต่อไป Dovan ที่ Dovan ก็ดูน่าพักดีนะ ผ่าน Dovan ไปพักที่ Bamboo


เดินผ่านน้ำแข็งกันอีกแล้ว
เปลี่ยนเส้นทางโดยข้ามสะพานน้อยๆ อันนี้ไปเดินอีกฝั่งหนึ่ง 



ที่พักที่ Bamboo เป็นที่เดียวกับที่ขาขึ้นเรามาแวะกินข้าว... รสชาติอาหารนั้นนนนนนน ดีต่อสุขภาพมากๆ 555555 รสชาติเหมือนอยู่ตรงกลาง 4 แยก ที่ทั้งคนกินและคนทำคิดไม่ออกว่าควรจะไปทางไหนดี...



วันนี้เดินไป 18.33 กิโลเมตร (รวมที่เดินขึ้นไป ABC และเดินลงด้วย) คิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ รวมกันทั้งหมด 2469  เมตร (ส่วนใหญ่เป็นทางลงแล้ว)
นอนที่ระดับความสูง 2310 เมตร



วันที่ 9 Bamboo - Sinuwa - Chomrong - Chinu - Ghandruk
การแต่งกายสำหรับการเดิน - กลับมาแต่งตัวกันแบบสบายๆ ได้แล้ว ช่วงเดินผ่าน Sinuwa และ Chomrong คุณจะสัมผัสได้ถึงความร้อน และแดดที่แผดเผา ช่วง Chinu Ghandruk อากาศไม่ค่อยเย็นแล้ว ถ้าเดินติดช่วงบ่ายๆเย็นๆ อย่าลืมพกเสื้อฝนไว้ด้วย

วันนี้เราออกเดินทางกันแต่เช้าอีกเช่นเคย เติมพลังกันให้เต็มที่ด้วยอาหารเช้า ที่ถึงแม้ว่ามันจะไร้รสชาติสักเพียงไหน คุณก็ควรที่จะกินมันเข้าไป แต่เอมชอบไข่ดาวตลอดเส้นทาง trek นะ ทอดแบบที่ชอบเลย ไข่ขาวเกรียมๆ >< ส่วน bread แบบเนปาล เอามากินกับน้ำผึ้งก็พอใช้ได้อยู่ แต่ถ้าคุณอยากกินอะไรที่มีรสชาติหน่อย มาม่าเกาหลีเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เพื่อนๆ เอมเลือกกินกัน จะใส่ไข่ ใส่ผักอะไรก็ว่ากันไป



เส้นทางในวันนี้จะเป็นลงๆ ก่อน แล้วก็ไต่ขึ้นไป Sinuwa จากนั้นก็ ลงๆๆๆ แล้วก็ไต่ขึ้นไป Chomrong ลงจาก Chomrong ก็ลงๆๆๆๆ เรื่อยๆ ไป Chinu จากนั้นเดินทางระนาบ (แบบ nepali flat 5555) ไปสักระยะแล้วค่อยไปไต่ขึ้น Ghandruk ช่วงทางระหว่าง Chomrong กับ Chinu มีจุดที่น่ากลัวและเดินยาก(สำหรับเอม) หลายช่วงอยู่เหมือนกัน T^T

ทางเดินระหว่าง Bamboo ไป Sinuwa

ทางขึ้นไป Sinuwa

บางส่วนของทางลงจาก Chomrong ไป Chinu 

เราไปแวะกินข้าวกันที่ Chinu ที่หมู่บ้านนี้เค้าเขียนว่ามี Hotspring ด้วย มีฝรั่งพักกันอยู่เยอะเลย เป็นหมู่บ้านที่ดูมีไม้ดอก ไม้ประดับเยอะแยะ สั่งพิซซ่ามากิน อร่อยดี ^^






ออกเดินต่อจาก Chinu ไป Ghandruk ... เส้นทางเดินไม่ได้ยากลำบากมาก แต่.. เผชิญกับฝนตกหนัก และลูกเห็บ ตกใส่หัว เจ็บมากกก ต้องวิ่งหาที่หลบกัน รอลูกเห็บหยุดตกค่อยออกเดินกันต่อ ที่ Ghandruk เป็นหมู่บ้านใหญ่มาก ที่พักเยอะมาก วันที่ไป เป็นวันที่เค้าฉลองปีใหม่ของเนปาลพอดี (ช่วงเดียวกับสงกรานต์เรา) ก็ได้ยินเสียงเพลงดังมาเป็นระยะ แต่ด้วยความเหนื่อยบวกกับตากฝนมาพอถึงที่พักเปลี่ยนเสื้อผ้ามุดตัวเข้าถุงนอน ... หลับเป็นตาย

สภาพตอนหาที่หลบฝนและลูกเห็บ

หลังฝนตกต้องรีบเดิน ระยะทางยังอีกไกล ที่ต้นไม้ด้านหน้าตรงนั้นมีลิงอยู่ 2-3 ตัวด้วย เพื่อนๆ ไม่มีใครเห็น เอมเห็นก่อน ทริปนี้ตาดีชนะเลิศ >< 

วันนี้เดินไป 16.81 กิโลเมตร คิดระยะทางในแนวดิ่งขึ้นๆ ลงๆ รวมกันทั้งหมด 2363  เมตร
นอนที่ระดับความสูง 1940 เมตร


วันที่ 10 Ghandruk - Nayapul - Pokhara
การแต่งกายสำหรับการเดิน -  สบายๆ สบายสุดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่บ้านเราเอง

เมื่อคืนคุยกับไกด์เรื่องขอเปลี่ยนแปลงการเดินทางเล็กน้อย เนื่องจากเมื่อวานลุยฝนกับมาอย่างชุ่มช่ำ รองเท้าเปียกสนิท เลยขอว่าวันนี้เราไม่เทรค แต่เป็นนั่งรถจาก Ghandruk ไป Nayapul แทนได้ไหม... ประกอบกับมีคนป่วยในกลุ่มเราด้วย วันนี้เราเลยออกกันสายๆ 



ทานข้าวเสร็จเรียบร้อย ก็เดินจาก Ghandruk ไปขึ้นรถตรงเมืองใกล้ๆ แทน ใช้เวลาเดินไปประมาณ 45 นาที แนะนำว่า ควรไปถึงก่อนรถออกประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะท่านจะได้สามารถเลือกที่นั่งได้แนะนำว่า นั่งริมหน้าต่าง จะเวิร์คสุด เพื่อนเอมที่นั่งด้านในเกิดอาการเมากลิ่นผู้คนมาก เพราะด้วยความที่คนอัดแน่นๆ คนที่ยืนอยู่ตรงกลาง แทบจะนั่งตักหรือขี่คอเพื่อนเอมอยู่แล้ว แต่การนั่งริมหน้าต่างก็ไม่ควรประมาท เพราะถนนแคบมาก พร้อมที่จะไปเบียดกับต้นไม้ กิ่งไม้ และรถข้างๆ ได้ตลอดเวลา 


อย่าลืมหลีกทางให้เพื่อนร่วมทางด้วยนะคะ

เจอดินถล่มเป็นระยะๆ ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว


รถที่จะพาเราไป Nayapul
รถบัสจะมีอยู่่ 2 ตอน คือส่วนห้องคนขับด้านหน้า และส่วนของผู้โดยสารด้านหลัง ซึ่งส่วนของห้องคนขับด้านหน้าก็มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็เห็นคนเปิดเข้าไปนั่งในนั้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดประหนึ่งในห้องนั้นมีประตูทะลุมิติ มองไปเห็นลูกหาบเรานั่งกอดคออยู่กับคนขับอย่างใกล้ชิด อีกนิดอาจจะนั่งตักกันก็เป็นได้....


วิวระหว่าง Ghandruk ไป Nayapul เส้นทางการเดินเท้าและการเดินรถร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ... ถ้าใครคิดจะเดินระหว่าง Ghandruk กับ Nayapul เอมไม่ค่อยเชียร์ให้เดินเส้นนี้เท่าไหร่ เพราะเดินร่วมกับเส้นทางรถวิ่งพอสมควร แล้วก็ร้อนๆ ฝุ่นๆ เดินไม่สนุกเหมือนตอนเดินในป่า แถมได้ยินเสียงรถบัสคันบีบแตรใส่คนที่เดินเทรคเป็นระยะๆ



ความใกล้ชิดระหว่างรถบัสที่สวนกัน ถ่ายจากมุมที่เอมนั่ง....

เอมไม่ทราบค่ารถระหว่างเมือง เพราะไกด์เป็นคนจัดการให้ เหมือนได้ยินแว่วๆ ว่าคนต่างชาติกับคนเนปาลราคาไม่เท่ากัน... 200 รูปีหรือเปล่า ไม่แน่ใจ

รถมาส่งลงที่ Nayapul ไกด์ลงไปจัดการเรื่อเอกสารที่ check post ให้เรียบร้อย รอรถของบริษัทมารับกลับเข้า Pokhara เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางผจญภัยบนเส้นทาง ABC ของเราแต่เพียงเท่านี้ ^^ และขอขอบคุณสุพงษ์หนึ่งในเพื่อนร่วมทริปของเราสำหรับข้อมูล GPS ด้วยนะคะ

ช่วงแถมท้าย 
1. สำหรับคนที่ลงมาถึงโพคราแล้ว อยากหาของกินอร่อยๆ แนะนำพิซซ่าร้าน Godfather พิซซ่าและ momo ที่ร้านนี้อร่อยแท้ >< เหมาะแก่การเป็นมื้อปิดทริปที่ดีเป็นอย่างยิ่ง





2. สำหรับคนที่เดินทางโดยเครื่องบินกลับไปกาฐฯ ลำโพงในสนามบินโพคราเสียงแตกมาก ฟังไม่รู้เรื่องเลย ท่านควรมีความตื่นตัว และใส่ใจความเคลื่อนไหวของคนที่คาดว่าบินไฟลท์เดียวกับท่านเสมอ.. ถึงแม้ว่าเค้าจะบอกเราว่าดีเลย์ก็ตาม...


สภาพภายในจุดนั่งรอขึ้นเครื่อง... พร้อมลุ้นกับเสียงประกาศ

สำหรับบล็อกต่อไป เดี๋ยวเราจะต่อกันด้วยที่เที่ยวใน กาฐฯ แบบเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นข้อมูลสำหรับคนที่มีเวลาเหลือจากการเทรคนะคะ ^^